ภาวะโคลิค
สุขภาพของลูก
ภาวะโคลิค คืออาการร้องไห้มากเกินไปในทารกที่มีสุขภาพแข็งแรงโดยไม่มีสาเหตุชัดเจนใด ๆ ซึ่งอาจทำให้คุณแม่หงุดหงิด เครียด และกลัวเป็นบางครั้ง แต่โคลิคอาจไม่ใช่ภาวะที่เป็นอันตราย ทารกส่วนใหญ่ที่มีภาวะโคลิคจะสามารถดื่มนมได้ และเจริญเติบโตขึ้นตามปกติเช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ ภาวะโคลิคมักจะหายไปได้เองเมื่ออายุครบ 6 เดือน
สัญญาณของภาวะโคลิค
ทารกที่มีภาวะโคลิคอาจมีรูปแบบการร้องไห้ดังนี้:
- ร้องไห้มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน
- ร้องไห้มากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์
- ร้องไห้ต่อเนื่องมากกว่า 3 สัปดาห์
- ปลอบให้หยุดร้องได้ยาก
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
ทารกที่มีภาวะโคลิคอาจร้องไห้ในช่วงเช้าและเย็นบ่อยกว่าในช่วงกลางวัน
วิธีรับมือเมื่อพบว่าลูกมีภาวะโคลิค
คุณหมอมักแนะนำวิธีต่อไปนี้:
- โอบกอดลูกในขณะที่เขากำลังร้องไห้
- ขณะให้นม ให้อุ้มลูกในท่านั่ง หรืออุ้มตัวลูกตั้งขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนอากาศเข้าไป
- อุ้มตัวลูกตั้งขึ้นเพื่อให้ลูกเรอหลังจากให้นม
- แกว่งตัวลูกเบา ๆ ในอ้อมแขน หรือในเปล
- อาบน้ำให้ลูกด้วยน้ำอุ่น
- เปิดคลื่นเสียงไวท์นอยส์ (White noise) เบา ๆ ซึ่งเป็นเสียงแบบราบเรียบ สม่ำเสมอ เช่น เสียงพัดลม เสียงฝนตก
- ให้ลูกดื่มนมตามปกติ
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
โดยปกติแล้วไม่จำเป็นที่จะต้องพาทารกที่มีภาวะโคลิคไปพบแพทย์ คุณพ่อคุณแม่เพียงแค่ต้องรับมือด้วยความใจเย็นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของลูก หรือไม่สามารถที่จะรับมือกับการร้องไห้อย่างต่อเนื่องของลูกได้ คุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำ หากลูกมีอายุเกิน 6 เดือนและยังมีภาวะโคลิคต่อเนื่อง ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์ เนื่องจากภาวะโคลิคมักจะหายไปเมื่อทารกอายุครบ 6 เดือน
สาเหตุของภาวะโคลิค
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโคลิคในทารกนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด บางคนเชื่อว่าอาจเป็นเพราะในขณะที่ทารกยังเล็ก พวกเขายังอาจย่อยอาหารได้ไม่ดีเพราะระบบย่อยอาหารนั้นยังไม่สมบูรณ์ หรือทารกอาจร้องไห้เพราะพวกเขามีปัญหาการแพ้อาหาร เช่น การแพ้นมผงที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบหลัก เป็นต้น