โรคเยื่อบุตาอักเสบ(ตาแดง)
สุขภาพของลูก
โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดงนั้นเป็นโรคติดเชื้อที่ดวงตา เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะป่วยเป็นโรคนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในขณะที่พวกเขากำลังโต ในกรณีทั่วไปจะไม่เป็นอันตรายและหายได้เร็ว หากได้รับการรักษาด้วยยาหยอดตาที่แพทย์สั่ง
สาเหตุของโรคเยื่อบุตาอักเสบ
โรคเยื่อบุตาอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือจากภูมิแพ้ ทารกแรกเกิดมักมีอาการเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ส่วนในเด็กโต สาเหตุมักมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือโรคภูมิแพ้
โรคเยื่อบุตาอักเสบเป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียนั้นถือเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ สามารถลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปสู่อีกข้างหนึ่ง และจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยการใช้ผ้าเช็ดตัว หรือของเล่นร่วมกัน ส่วนโรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้นั้นจะไม่ติดต่อกัน เด็กที่เป็นโรคไข้ละอองฟางและโรคหอบหืดอาจมีภาวะเยื่อบุตาอักเสบร่วมด้วย
อาการที่พบได้บ่อยเป็นอย่างไร?
- ดวงตาเปลี่ยนเป็นสีแดงข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
- คันหรือแสบตา
- มีน้ำตาคลอหรือไหลตลอดเวลา
- เปลือกตาบวมและมองเห็นไม่ชัด
- สู้แสงไม่ได้
- มีขี้ตามากผิดปกติในตอนเช้า
ขี้ตาที่เกิดจากโรคเยื่อบุตาอักเสบ
หากเป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ขี้ตาที่เกิดขึ้นจะมีสีเหลือง แต่หากเป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ ขี้ตาจะมีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ ส่วนโรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากไวรัสมักทำให้มีขี้ตาเหนียวและใส และมักจะมาพร้อมกับอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่
โรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ มักจะเริ่มที่ตาข้างหนึ่งแล้วแพร่กระจายไปยังอีกข้างหนึ่ง ในขณะที่โรคเยื่อบุตาอักเสบที่เกิดจากภูมิแพ้มีแนวโน้มที่จะเริ่มที่ตาทั้งสองข้างในเวลาเดียวกัน
วิธีรักษาโรคเยื่อบุตาอักเสบ
เด็กที่เป็นโรคเยื่อบุตาอักเสบควรไปพบแพทย์ เนื่องจากวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคเยื่อบุตาอักเสบที่พวกเขาเป็น:
- หากแพทย์คาดว่าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะสั่งยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ
- หากเป็นการติดเชื้อไวรัส แพทย์จะสั่งยาหยอดตาชนิดอื่นที่จะช่วยลดการอักเสบของดวงตา
- หากมีสาเหตุจากอาการแพ้ แพทย์อาจสั่งยาประเภทแอนตี้ฮีสตามีนเพื่อบรรเทาอาการระคายเคือง
วิธีบรรเทาอาการและทำความสะอาดดวงตา
คุณแม่สามารถช่วยบรรเทาอาการของลูกได้ด้วยการทำความสะอาดขี้ตารอบ ๆ ดวงตาอย่างนุ่มนวลด้วยสำลีสะอาดแช่ในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว โดยเริ่มที่หัวตาและค่อย ๆ เช็ดออกไปที่หางตาด้านนอก ใช้สำลีแยกชิ้นสำหรับดวงตาแต่ละข้างเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
วิธีป้องกันการติดต่อของโรคเยื่อบุตาอักเสบ
หากโรคเยื่อบุตาอักเสบของลูกเกิดจากการติดเชื้อ คุณแม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้โดยปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้:
- ล้างมือลูกบ่อยๆ
- พยายามอย่าให้ลูกขยี้ตา หรือสัมผัสโดนตาลูก
- ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับคนอื่น
โรคเยื่อบุตาอักเสบเป็นอันตรายหรือไม่?
โรคเยื่อบุตาอักเสบเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักไม่ทำให้ดวงตาของเด็กเกิดความเสียหายหรือทำให้เกิดปัญหาการมองเห็นในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หากลูกมีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์หลังจากได้รับการรักษา คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์อีกครั้ง ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่พาลูกไปพบจักษุแพทย์เด็กเพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม