โรคไข้หวัด
สุขภาพของลูก
โรคไข้หวัด คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อจมูก ลำคอ และช่องว่างในกะโหลกศีรษะที่เรียกว่าโพรงจมูก มีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่สามารถก่อให้เกิดโรคหวัดได้ แต่ Rhinovirus เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยที่สุด เด็ก ๆ สามารถเป็นโรคไข้หวัดได้สูงสุดถึงปีละ 10 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะเป็นนาน 7 – 14 วัน
อาการของโรคไข้หวัด
เมื่อลูกน้อยของคุณแม่ติดเชื้อไวรัสโรคไข้หวัดแล้ว อาการจะแสดงใน 2 – 3 วันซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้:
- มีไข้ต่ำ ๆ
- หนาวสั่น
- เจ็บคอ
- จาม
- น้ำตาไหล
- ไอ
- เมื่อยล้า
- เบื่ออาหาร
- น้ำมูกไหล หรือคัดจมูก และหายใจลำบาก
- อาเจียนโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
เด็ก ๆ ติดเชื้อหวัดได้อย่างไร?
เมื่อมีคนใกล้ตัวคุณไอหรือจาม ละอองของน้ำมูกจะลอยฟุ้งในอากาศ หากเด็ก ๆ หายใจเอาละอองเหล่านั้นเข้าไป ก็สามารถทำให้เกิดอาการหวัดได้ หรือเมื่อเด็ก ๆ อาจไปสัมผัสวัตถุที่มีเชื่อไวรัสหวัดติดอยู่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่โรงเรียน หรือมือของเพื่อน หลังจากนั้นก็ใช้มือขยี้ตา แคะจมูก หรือเอามือเข้าปาก ก็อาจทำให้ติดเชื้อไวรัสหวัดได้ คุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจเสมอว่าลูกน้อยได้ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
วิธีป้องกันลูกจากโรคไข้หวัด
เนื่องจากไวรัสหวัดมีจำนวนมากจึงไม่มีการผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กติดโรคหวัด เพราะระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงนั้นเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด หากลูกน้อยของคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อหวัด คุณแม่ควรเตรียมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดูให้แน่ใจว่าพวกเขาได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
วิธีการรักษาโรคไข้หวัด
โรคไข้หวัดนั้นไม่มีวิธีรักษาโดยตรง เด็ก ๆ ส่วนใหญ่สามารถฟื้นตัวจากโรคไข้หวัดได้เองตามธรรมชาติ คุณแม่อาจใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกดีขึ้น:
- ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ เช่น น้ำเปล่า เครื่องดื่มผสมเกลือแร่ น้ำผลไม้ หรือซุปอุ่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการขาดน้ำได้
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ล้างจมูกของพวกเขาด้วยน้ำเกลือ เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น โดยเฉพาะเด็กทารกส่วนมากจะมีปัญหาในการดื่มนมหากพวกเขามีอาการคัดจมูก
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่เป็นมลพิษ ควันบุหรี่หรือฝุ่นควันจะทำให้การระคายเคืองในจมูกและลำคอแย่ลง
- หลีกเลี่ยงลมเย็น คุณแม่ควรระมัดระวังไม่ให้ลูกสัมผัสอากาศเย็นจากเครื่องปรับอากาศโดยตรง
- ให้ลูกหยุดเรียนอยู่บ้าน จนกว่าจะหายจากอาการไข้หวัดอย่างน้อย 1 วัน
คุณควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ หากโรคไข้หวัดมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น มีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หายใจเร็วหรือหอบ เหนื่อยล้า ไอหนัก ง่วงซึมหรือกระวนกระวายมากผิดปกติ
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (25 มีนาคม 2020)