การฝากครรภ์ (สัปดาห์ที่ 8 )
การฝากครรภ์
คุณหมอจะยืนยันการตั้งครรภ์ของคุณแม่ และกำหนดวันคลอดมาให้ ถ้าทำอัลตราซาวนด์ คุณแม่ก็จะได้เห็นลูกตัวน้อย ๆ ขยับไปมาอยู่ในท้อง และถ้าคุณแม่มีอายุมากกว่า 35 ปี คุณหมออาจแนะนำให้รับการตรวจเพิ่มเติม
จุดประสงค์ในการตรวจ
- การประเมินอายุครรภ์
- แพทย์จะซักประวัติคุณและสมาชิกในครอบครัวเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของทารกในครรภ์
- แพทย์อาจตรวจอัลตราซาวด์เพิ่ม
- คุณแม่จะได้รับการตรวจร่างกายได้แก่ การตรวจกระดูกเชิงกราน การตรวจเต้านม วัดความดัน ชั่งน้ำหนัก การตรวจปัสสาวะ การตรวจเลือด
การเตรียมคำถามก่อนมาพบแพทย์
- ยาประเภทใดที่ไม่อันตรายต่อทารกในครรภ์ ?
- ระหว่างการตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ?
- ควรนัดตรวจครรภ์ทุกกี่สัปดาห์ ?
- วิธีลดอาการแพ้ท้องใดที่แพทย์แนะนำ ?
- อาการลักษณะใดที่ควรมาพบแพทย์ในทันที ?
- ช่วงเวลาไหนที่แพทย์สะดวกสามารถให้คำปรึกษาได้ ?
- สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ ?
- ริ้วรอยแตกลายบนร่างกายจะจัดการได้อย่างไร ?
การเตรียมตัวก่อนมาพบแพทย์
- ในการมาพบแพทย์ควรพาสามีหรือบุคคลในครอบครัวมาด้วย
- จดบันทึกประจำเดือนครั้งล่าสุดเพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณวันครบกำหนดคลอด
- เตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติการท้องครั้งก่อน การใช้ยาคุมกำเนิด การแพ้ การใช้ยาต่าง ๆ การผ่าตัด และโรคประจำตัว
- สอบถามบุคคลในครอบครัวเรื่องโรคทางพันธุกรรม
- สอบถามครอบครัวฝ่ายคุณพ่อถึงโรคทางพันธุกรรม
การตรวจเพิ่มเติม (อายุ 35ปี ขึ้นไป)
สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปหรือมีประวัติความผิดปกติของโครโมโซม แพทย์จะแนะนำให้รับการตรวจดังต่อไปนี้
การตรวจวัดความหนาของผิวหนัง บริเวณต้นคอทารก: ทำการตรวจโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์วัดความหนาบริเวณต้นคอของทารกในครรภ์ หากมีความหนาเกิน 3 มิลลิเมตรจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าทารกอาจมีความผิดปกติทางโครโมโซม หรือโรคทางพันธุกรรม (สามารถตรวจได้ในช่วงอายุครรภ์10สัปดาห์ขึ้นไป)
การเจาะน้ำคร่ำ: น้ำคร่ำคือน้ำที่อยู่หล่อเลี้ยงรอบ ๆ ตัวอ่อนในครรภ์ ในการตรวจจะเจาะนำน้ำคร่ำมาตรวจเนื่องจากน้ำคร่ำเป็นที่อยู่ของเซลล์และสิ่งอื่น ๆ รวมอยู่สามารถตรวจสอบโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซมได้ เช่น ดาวน์ซินโดรม โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ซิสติก ไฟโบรซิส (โรคทางพันธุกรรมก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อปอดและระบบทางเดินอาหาร) โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (โรคกล้ามเนื้อ่อนแรง) โรคเสื่อม (Tay-Sachs) หรือโรคอื่น ๆ ที่คล้ายกัน การตรวจนี้สามารถทำได้ในสัปดาห์ที่ 16-18 มีความแม่นยำในการตรวจสูงถึง 99% แต่มีโอกาสก่อให้เกิดการแท้งได้ 0.5-1% คุณแม่ทุกคนจะได้รับคำแนะนำเรื่องการคัดกรองดาวน์ซินโดรมแบบต่าง ๆ แต่หากคุณแม่อายุครบ 35 ปีขึ้นไปในวันกำหนดคลอด คุณหมออาจให้คุณแม่เลือกเจาะน้ำคร่ำได้เลย สำหรับโรคทางพันธุกรรมจะได้รับการตรวจคัดกรองโดยดูจากประวัติครอบครัว แต่ในประเทศไทยจะคัดกรองพาหะธาลัสซีเมียทุกรายเนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อย ส่วนโรคอื่น ๆ มักพบในทางยุโรปจึงอาจไม่จำเป็นต้องคัดกรอง
การตรวจเนื้อเยื่อรก: ในการตรวจจะนำตัวอย่างชื้นเนื้อ (เนื้อเยื่อรก) จากรกในส่วนที่ติดอยู่กับผนังมดลูกมาตรวจ ซึ่งรกในส่วนนี้มีโครโมโซมชุดเดียวกันกับทารกในครรภ์ สามารถตรวจสอบโรคที่เกิดจาก ความผิดปกติทางโครโมโซมได้ เช่น ดาวน์ซินโดรม โลหิตจากจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ซิสติก ไฟโบรซิส (โรคทางพันธุกรรมก่อใก้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อปอดและระบบทางเดินอาหาร) โรคเสื่อม (Tay-Sachs) หรือโรคอื่น ๆ ที่คล้ายกัน การตรวจนี้สามารถทำได้ในสัปดาห์ที่ 10-13 มีความแม่นยำในการตรวจสูงถึง 99% แต่มีโอกาสก่อให้เกิดการแท้งได้ 2%
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (1 กันยายน 2021)