ปวดท้อง
สุขภาพของลูก
การปวดบริเวณช่องท้อง (ปวดท้อง) เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับเด็กเล็ก แต่อาจเป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กบอกตำแหน่งที่ปวดให้ชัดเจนได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการวินิจฉัยสาเหตุของอาการปวดนั้น
บ่อยครั้งที่อาการปวดท้องของลูกสามารถรักษาได้เองที่บ้านและไม่มีอะไรที่คุณแม่จะต้องกังวล แต่สิ่งสำคัญคือคุณแม่จะต้องดูแล และสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด และควรแน่ใจว่าอาการแบบใดสามารถรักษาได้เองที่บ้าน หรืออาการแบบใดควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
บริเวณช่องท้องคือส่วนใด?
ช่องท้องเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งอยู่ระหว่างส่วนล่างของซี่โครงและส่วนบนของสะโพก ภายในช่องท้องนั้นมีอวัยวะสำคัญ ๆ อยู่หลายอย่าง หากมีปัญหาเกิดขึ้นกับอวัยวะบริเวณนั้น อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดได้ แต่ความเครียด ความวิตกกังวล หรือปัญหาทางจิตใจ ก็อาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายได้เช่นกัน
สาเหตุของอาการปวดอาจรวมถึง:
- ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เช่น อาการท้องผูก หรืออาการโคลิคในเด็กทารก
- เกิดการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อที่กระเพาะและลำไส้ ไต หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น หู หรือหน้าอก
- ปัญหาเกี่ยวกับอาหาร เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป อาหารเป็นพิษ แพ้อาหาร หรือเปลี่ยนไปรับประทานอาหารใหม่ที่ย่อยยาก
- อาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ
- ปัญหาที่ต้องได้รับการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อุดตัน หรือเกิดภาวะลำไส้กลืนกัน
- ถูกพิษ เช่น แมลงสัตว์กัดต่อย หรือรับประทานอาหารที่เป็นพิษ
- มีความเครียดทางจิตใจ เช่น เกิดอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่สบายใจขึ้นที่โรงเรียนหรือเนอสเซอรี่
สิ่งที่ควรทำเมื่อไปพบแพทย์
การรักษาอาการปวดท้องนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด การไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและวินิจฉัยนั้นช่วยได้มาก คุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้บอกแพทย์ถึงเวลาที่แน่นอนที่เกิดอาการปวด เนื่องจากสาเหตุอาจมาจากการรับประทานอาหารบางอย่าง
ทำไมจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ? (ยกเว้นในกรณีจำเป็น)
ขวบปีแรกของลูกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางร่างกายให้แข็งแรง คุณแม่จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงนี้ และควรเลือกวิธีการรักษาแบบอื่นถ้าเป็นไปได้ ยาปฏิชีวนะนั้นอาจเป็นอันตรายต่อเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ของลูกอย่างรุนแรง และการสร้างเชื้อจุลินทรีย์ขึ้นใหม่ภายหลังการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดอาการปวดท้องหลังจากใช้ยาปฏิชีวนะ และอาการปวดท้องอาจคงอยู่ได้นานถึง 4 สัปดาห์หลังจากการใช้ยาครั้งสุดท้าย
วิธีรับมือเมื่อลูกมีอาการปวดท้อง:
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- อย่าพยายามกดดันให้ลูกรับประทานอาหาร ถ้าหากเขารู้สึกไม่สบาย
- หากลูกหิว ให้เขารับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม หรือกล้วย
- การประคบร้อนจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อและตะคริว คุณแม่สามารถวางถุงน้ำร้อนไว้ที่บริเวณหน้าท้องของลูก หรืออาบน้ำอุ่นให้ลูก
สัญญาณบ่งบอกถึงอันตราย
พาลูกไปพบแพทย์ หรือแผนกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดทันที หากพบอาการดังต่อไปนี้:
- มีอาการปวดอย่างรุนแรง หรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆ
- มีไข้หรือหนาวสั่น
- หน้าซีด เหงื่อออก และไม่สบายตัว
- อาเจียนต่อเนื่องนานกว่า 24 ชั่วโมง
- ไม่สามารถดื่มหรือรับประทานอาหารได้นานกว่า 24 ชั่วโมง
- มีเลือดปนออกมากับอาเจียน
- มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
- มีปัญหาในการปัสสาวะ
- มีผื่นผิวหนังและมีอาการเจ็บปวด
- มีอาการไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งพบได้ยาก (มีอาการปวดอย่างรุนแรงในช่องท้องด้านขวาล่าง มีไข้ และอาเจียน)
อย่าลืมสิ่งสำคัญ
ไม่ว่าอาการปวดจะเกิดขึ้นเพียงไม่นานหรือร้ายแรงกว่านั้น คุณแม่ควรแน่ใจว่าได้ให้ความรักและการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะทำให้คุณแม่ไม่พลาดอาการร้ายแรงใด ๆ แล้ว ยังสามารถทราบได้ทันทีอีกด้วยว่าควรพาลูกไปพบแพทย์เมื่อใด
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (2 กุมภาพันธ์ 2020)