ข้อเท้าบวม
อาการคนท้อง
อาการบวมเกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีของเหลวมากกว่าปกติในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเรียกว่า อาการบวมน้ำ
อาการบวมปกติ
เป็นเรื่องปกติที่จะมีอาการบวมเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการบวมบริเวณข้อเท้า เท้า และนิ้วมือได้ โดยปกติแล้วจะเป็นอาการแบบชั่วคราว และจะหายไปได้เองหลังจากคลอด แต่ในบางกรณี คุณแม่บางรายอาจยังมีอาการบวมหลังจากคลอดแล้วต่อไปได้อีกถึง 12 สัปดาห์
อาการบวมผิดปกติ
อาการบวมที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่า มีบางอย่างที่ผิดปกติร้ายแรงกว่านั้น:
- อาการบวมอย่างเฉียบพลัน และมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเฉพาะที่ขาข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นี่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงลิ่มเลือด (ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ)
- อาการบวมที่เพิ่มขึ้นอย่างเฉียบพลันอาจหมายความว่าความดันโลหิตของคุณแม่สูงกว่าปกติ
- ข้อเท้า นิ้วมือ หรือใบหน้าบวมมากอาจเป็นสัญญาณของการเกิดครรภ์เป็นพิษได้
คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีหากพบว่ามีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น
วิธีรับมือกับอาการเท้าและข้อเท้าบวม
หากอาการบวมที่ข้อเท้าของคุณแม่มีแนวโน้มที่จะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป คุณแม่สามารถบรรเทาอาการบวมได้โดยวิธีต่อไปนี้
- เปลี่ยนรองเท้าให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
- เลือกรองเท้าที่ไม่มีส้น หรือรองเท้าส้นแบนที่มีสายรัด เพื่อให้ยึดติดกับเท้า และสามารถรองรับแรงกระแทกได้ดี
- หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน
- ยกเท้าขึ้นสูงขณะนั่ง หมุนข้อเท้าเป็นครั้งคราว และค่อย ๆ งอเท้าเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่อง
- นอนราบ โดยหาหมอนมารอง เพื่อยกขาให้สูงขึ้น
- นอนตะแคงซ้ายเพื่อช่วยให้การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
- สวมกางเกงรัดรูปหรือเลกกิ้งซัพพอร์ตหากคุณหมอแนะนำ
- สวมเสื้อผ้าหลวมๆ
- อย่าสวมถุงเท้าหรือถุงน่องที่มียางรัดข้อเท้าหรือน่อง
- อย่าลดปริมาณการดื่มน้ำ (สถาบันการแพทย์แนะนำว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดื่มน้ำไม่น้อยกว่า 10 แก้วต่อวัน)
- หากเป็นไปได้ควรออกกำลังกายเบา ๆ เป็นประจำ
- การนวดเท้าอาจช่วยได้เช่นกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการกดจุดบริเวณฝ่าเท้า
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (3 กุมภาพันธ์ 2020)