การนอนหลับ
สุขภาพของลูก
ทารกแรกเกิดจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน แต่ทารกส่วนใหญ่จะไม่นอนหลับต่อเนื่องเกิน 2 – 4 ชั่วโมงต่อครั้ง เพราะพวกเขาต้องตื่นมากินนมตามช่วงเวลา และเมื่อลูกเติบโตขึ้นรูปแบบการนอนหลับก็จะเปลี่ยนไป
รูปแบบการนอนหลับของทารก
ตามธรรมชาติแล้วทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปีจะ
นอนหลับมากกว่าผู้ใหญ่ พวกเขาจะใช้เวลานอนส่วนใหญ่ในการนอนหลับระยะตื้นหรือหลับไม่สนิท แทนการนอนหลับระยะลึกหรือหลับเงียบ ในการนอนหลับระยะตื้น พวกเขาจะหายใจสั้น ๆ บิดแขนและขา มีการกลอกดวงตาอย่างต่อเนื่องภายใต้เปลือกตา และจะถูกปลุกให้ตื่นได้ง่าย
ช่วง แรกเกิด – 3 เดือน
- ทารกจะหลับ ๆ ตื่น ๆ ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน
- ระยะเวลารวมของการนอนของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน โดยอาจอยู่ระหว่าง 8 – 18 ชั่วโมงต่อวัน
- ทารกมักนอนหลับเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากพวกเขาต้องตื่นมากินนมบ่อยๆ
- หากทารกนอนหลับยาวนานกว่า 5 ชั่วโมง คุณแม่จำเป็นต้องปลุกขึ้นมาเพื่อให้นม
- ทารกแรกเกิดมักจะนอนหลับไม่ลึก พวกเขาจะนอนหลับระยะตื้นเป็นส่วนมาก
ช่วง 3 – 6 เดือน
- ลูกจะนอนหลับน้อยลง
- ลูกจะนอนกลางวันโดยเฉลี่ย 3 ครั้งต่อวัน และอาจยาวนานถึง 2 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง
- ทารกส่วนใหญ่จะนอนหลับประมาณ 14 – 16 ชั่วโมงต่อวัน
ช่วง 6 – 12 เดือน
- รูปแบบการนอนของทารกจะเริ่มใกล้เคียงกับผู้ใหญ่เมื่ออายุ 6 เดือน
- ในช่วงอายุนี้ทารกจะนอนหลับประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งจะหลับยาวในตอนกลางคืน 11 ชั่วโมงโดยประมาณ
- การนอนกลางวันจะลดลงเหลือประมาณ 2 ครั้งต่อวัน และจะหลับประมาณ 1 – 2 ชั่วโมงต่อครั้ง
- ทารกจะไม่ค่อยตื่นขึ้นมาในช่วงกลางคืน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องตื่นมากินนมบ่อย ๆ แล้ว
ช่วง 12 เดือนขึ้นไป
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไปจะเริ่มนอนหลับได้ลึกขึ้น นานขึ้น และตื่นน้อยลง
- เด็กส่วนใหญ่ในวัยนี้จะนอนกลางวันเพียง 1 – 2 ครั้งต่อวันเท่านั้น
- ในตอนกลางคืนเด็กจะสามารถนอนหลับได้ยาวนาน 8 – 12 ชั่วโมง
ช่วง 24 เดือนขึ้นไป
- เด็กวัยหัดเดินอายุ 2 – 4 ปีจะนอนหลับ 11 – 13 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และอาจนอนกลางวัน 1 – 3 ชั่วโมงต่อวัน
วิธีช่วยให้ลูกนอนหลับสบาย
วางแผนกิจกรรมในตอนกลางวัน และทำกิจกรรมในตอนกลางคืนให้เป็นกิจวัตร:
- ให้ลูกนอนกลางวันให้ตรงเวลา แม้จะเป็นวันเสาร์ – อาทิตย์ เพราะหากลูกพลาดการนอนกลางวัน อาจทำให้เขานอนหลับไม่สบายในตอนกลางคืน
- พยายามให้ลูกรับประทานอาหารและขนมในช่วงเวลากลางวัน
- งดกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นก่อนนอน อาจลองเปลี่ยนเป็นพาเขาอาบน้ำ และเล่านิทานสบาย ๆ แทน
- ให้ลูกหลีกเลี่ยงการดูหน้าจอทุกชนิด โทรศัพท์มือถือ และจอทีวี LED มีคลื่นแสงสีฟ้าที่ค่อนข้างแรงและสร้างความตื่นตัวให้ลูกได้มาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอทุกชนิดในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยเฉพาะก่อนเข้านอน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (4 มีนาคม 2020)