ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
อาการคนท้อง
การให้กำเนิดลูกน้อยสามารถกระตุ้นอารมณ์ของคุณแม่ได้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความตื่นเต้น ความปิติยินดี หรือความกลัว นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย ระดับของภาวะซึมเศร้าสามารถแบ่งได้เป็น ภาวะซึมเศร้าเล็กน้อยและระยะสั้นหรือที่เรียกว่า Baby blues ไปจนถึงภาวะที่รุนแรงและยาวนานอย่างโรคซึมเศร้าหลังคลอดและโรคจิตหลังคลอด
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือเบบี้บลู
คุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่จะเจอกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มขึ้นภายใน 2 – 3 วันแรกหลังคลอด และอาจยาวนานไปจนถึง 2 สัปดาห์ สัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจรวมถึงอาการดังต่อไปนี้:
- อารมณ์แปรปรวน
- เกิดความกังวล
- เกิดความโศกเศร้า
- เกิดความหงุดหงิด
- รู้สึกเกินจะทนไหว
- ร้องไห้บ่อย
- ไม่มีสมาธิ
- ไม่อยากอาหาร
- นอนไม่หลับ
วิธีรับมือกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
วิธีต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้ทันที เมื่อต้องอยู่บ้านกับลูกน้อยในขณะที่กำลังมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
- พูดคุยกับครอบครัว เพื่อน หรือคุณหมอเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณแม่
- หามืออาชีพผู้ให้บริการด้านการดูแลหลังคลอด หรือผู้เชี่ยวชาญการอยู่ไฟ
- ออกไปพบปะผู้คน หรือทำกิจกรรมร่วมกับคุณแม่มือใหม่คนอื่น ๆ หรือเข้าคลาสโยคะสำหรับคุณแม่
- ใช้เวลากับคุณพ่อให้มากขึ้นจะช่วยรักษาความสัมพันธ์และภาวะทางอารมณ์ที่ดีสำหรับทั้งคุณแม่และคุณพ่อ
- ใช้เวลาในการทำกิจกรรมที่คุณแม่ชอบ
โรคซึมเศร้าหลังคลอด
โรคซึมเศร้าหลังคลอดจะมีอาการซึมเศร้าที่รุนแรงและยาวนานกว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดธรรมดา และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดูแลลูกน้อยและใช้ชีวิตประจำวันได้ อาการมักจะเกิดขึ้นภายใน 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งอาจรวมถึงอาการดังต่อไปนี้:
- อารมณ์ซึมเศร้า
- อารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง
- ร้องไห้อย่างหนัก
- มีความยากลำบากในการสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้อย
- เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร
- เบื่ออาหาร หรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติ
- นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป
- มีความเหนื่อยล้าอย่างมาก หรือรู้สึกสูญเสียพลังงาน
- ไม่มีความสุขกับกิจกรรมที่คุณแม่เคยชอบ
- มีอารมณ์โกรธที่รุนแรง
- มีความกลัวว่าจะไม่สามารถเป็นแม่ที่ดีได้
- รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า รู้สึกผิด หรือรู้สึกว่าไม่ดีพอ
- สมาธิ ความคิด และความสามารถในการตัดสินใจลดลงอย่างชัดเจน
- รู้สึกกระวนกระวาย
- มีความวิตกกังวลอย่างรุนแรง และมีอาการตื่นตกใจกลัว
- มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรือลูกน้อย
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตายซ้ำๆ
คุณพ่อมือใหม่ก็อาจมีอาการแบบเดียวกับที่คุณแม่เป็นได้เช่นกัน โดยคุณพ่อที่มีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าหลังคลอดมากที่สุดคือ คุณพ่อที่อายุยังน้อย มีปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ หรือด้านการเงิน
โรคจิตหลังคลอด
โรคจิตหลังคลอด เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ที่รุนแรงและเป็นกรณีที่พบได้ยาก ซึ่งโดยปกติจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด
สัญญาณของโรคอาจรวมถึงอาการดังต่อไปนี้:
- งุนงงและสับสน
- มีความคิดหมกมุ่นอยู่กับลูกน้อย
- มีอาการประสาทหลอน และมีอาการหลงผิด
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
- รู้สึกกระตืนรือร้น และตื่นเต้นมากเกินไป
- หวาดระแวง
- มีความพยายามทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อย
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
หากคุณแม่มีอาการใด ๆ ที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือโรคซึมเศร้าหลังคลอด ควรปรึกษาคุณหมอ และพูดคุยกับครอบครัวโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอาการต่าง ๆ มีลักษณะดังต่อไปนี้:
- อาการนั้นไม่หายไปหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์
- อาการแย่ลงเรื่อยๆ
- อาการเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงดูลูกน้อย
- อาการเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือลูกน้อย
- มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตหลังคลอด
คุณแม่ต้องไม่กลัวที่จะขอความช่วยเหลือ และรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (3 กุมภาพันธ์ 2020)