โรคอีสุกอีใส
สุขภาพของลูก
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดอาการไข้และมีผื่นคันเป็นตุ่มน้ำใสๆ ทั่วร่างกาย เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี
สัญญาณของโรคอีสุกอีใส
อาการของโรคอีสุกอีใสมักเริ่มจากปวดศีรษะ เจ็บคอ หรือปวดท้อง และมีไข้ราวๆ 38.3°C – 38.8°C เด็ก ๆ อาจมีอาการเหล่านี้ประมาณ 2 – 3 วันโดยยังไม่มีผื่นหรือตุ่มน้ำใสที่ผิวหนัง
ผื่นคันหรือตุ่มแดงที่ผิวหนังมักเริ่มปรากฏที่หน้าท้อง หลัง และใบหน้า จากนั้นจึงกระจายไปเกือบทุกบริเวณทั่วร่างกาย
อาการของโรค 3 ระยะ:
- ผื่นมักเริ่มจากจุดเล็ก ๆ สีแดงจำนวนมากซึ่งมีลักษณะคล้ายสิว หรือแมลงกัดต่อย
- หลังจากนั้น 2 – 4 วัน ตุ่มแดงเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ที่มีผิวบางๆ
- จากนั้นตุ่มน้ำจะแตกออกกลายเป็นแผลเปิด ซึ่งในที่สุดก็จะตกสะเก็ดเป็นสีน้ำตาลและแห้งไป
สาเหตุของโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella – Zoster (VZV) ในเด็กบางคนเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสจะยังคงอยู่ในระบบประสาทและในภายหลังอาจเกิดเป็นโรคงูสวัดได้ โรคงูสวัดคือผื่นผิวหนังที่ทำให้เจ็บปวด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคเริมงูสวัด
เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสมักจะมีโอกาสเป็นโรคงูสวัดได้น้อยกว่าเมื่ออายุมากขึ้น
วิธีรักษาโรคอีสุกอีใส
ยังไม่มีวิธีรักษาโรคอีสุกอีใสได้โดยตรง แต่โดยทั่วไปแล้วไวรัสมักจะหายไปได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ
ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หากติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณแผล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากเด็กเกาที่แผลตุ่มน้ำใส และมีสิ่งสกปรกหรือแบคทีเรียเข้าไปข้างในแผล
คุณหมออาจให้ยาต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้พิจารณาตามอาการว่าจำเป็นต้องให้ยาต้านเชื้อไวรัสแก่ลูกของคุณแม่หรือไม่
วิธีช่วยเหลือเมื่อลูกเป็นโรคอีสุกอีใส:
- ตัดเล็บให้สั้นและแต่งให้ไม่คมเพื่อป้องกันลูกเกา หรือข่วนตัวเอง
- พยายามให้ลูกล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ให้ลูกใส่ถุงมือก่อนเข้านอนเพื่อหลีกเลี่ยงการเกาขณะนอนหลับ
- ใช้เจลเย็นประคบบริเวณที่มีอาการคัน
- อาบน้ำในน้ำอุ่นทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง ซับร่างกายเบา ๆ อย่าถู
- หากลูกมีแผลในปาก ควรให้ลูกรับประทานอาหารอ่อน เย็น และรสจืด เพราะแผลอีสุกอีใสในปากสามารถทำให้เด็กดื่มหรือกินได้ยากขึ้น
- ปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเกี่ยวกับครีมบรรเทาอาการปวด โลชั่นคาลาไมน์ หรือยาอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น พาราเซตามอล
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง:
- ห้ามให้ยาแอสไพรินแก่เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสเพราะอาจนำไปสู่การเกิดโรคเรย์ซินโดรมซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตับและสมองจนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเปรี้ยวหรือเค็ม เช่น น้ำส้ม หรือมันฝรั่งทอดกรอบ
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
โรคอีสุกอีใสส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ แต่คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ หากลูกมีอาการดังต่อไปนี้:
- มีไข้ติดต่อกันเกิน 4 วัน
- มีอาการไอรุนแรงหรือหายใจลำบาก
- บริเวณที่เป็นผื่นมีหนอง บวมแดง หรือเจ็บ
- มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง
- อ่อนเพลียมาก
- ตื่นยาก
- มีปัญหาในการมองในที่สว่าง
- มีปัญหาในการเดิน
- มีอาการสับสน
- อาเจียน
- ดูป่วยผิดปกติ
- มีอาการปวดคอ ต้นคอแข็ง
วิธีหยุดการระบาดของโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสมีโอกาสติดต่อได้สูงในช่วงประมาณ 2 วันก่อนที่ผื่นจะขึ้น ไปจนกว่าจะถึงช่วงที่ตุ่มน้ำใสเปลี่ยนเป็นสะเก็ดแผลจนหมด หลังจากที่เด็กรับเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ต่อมา
เด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใสควรอยู่แต่ในบ้าน พักผ่อนจนกว่าตุ่มน้ำจะหายไปและแผลแห้งแล้วทั้งหมด ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์
คนที่เป็นโรคงูสวัดสามารถแพร่เชื้ออีสุกอีใส (ไม่ใช่เชื้อโรคงูสวัด) ให้กับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสหรือไม่ได้รับวัคซีนได้
วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใส
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด โดยคุณหมอจะแนะนำให้เด็ก ๆ ได้รับวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 1 – 1 ขวบครึ่ง และรับวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 2 – 4 ปี
เด็กอายุ 13 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน และไม่เคยได้รับวัคซีน ควรฉีดวัคซีน ส่วนเด็กที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วนั้นไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน เนื่องจากพวกเขามักจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้ขึ้นได้เองและสามารถป้องกันได้ตลอดชีวิต
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (10 กุมภาพันธ์ 2020)