มลพิษทางอากาศ
สุขภาพของลูก
เด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ เนื่องจากปอดของพวกเขายังคงพัฒนาอยู่ และเด็ก ๆ ส่วนใหญ่ยังมีความกระตือรือร้น และวิ่งเล่นขยับตัวมาก พวกเขาจึงหายใจเอาอากาศเข้าไปมากกว่า หากเด็ก ๆ ได้รับอากาศที่เป็นพิษเข้าไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อปอดเล็ก ๆ สมอง และหัวใจของพวกเขาได้
ทำไมเด็กจึงมีความเสี่ยงสูง?
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อผลกระทบของมลพิษทางอากาศมาก ก็คือพวกเขาหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ร่างกายได้รับมลพิษมากขึ้น รวมถึงเหตุผลดังต่อไปนี้
- ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของปอดในเด็กส่วนมากจะเติบโตขึ้นหลังคลอด โดย 80% ของถุงลมขนาดเล็กของพวกเขาจะถูกพัฒนาขึ้นหลังคลอด ถุงลม (alveoli) คืออวัยวะที่มีการแลกเปลี่ยนเพื่อนำออกซิเจนไปยังเลือด เพื่อนำไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- เด็ก ๆ ไม่ปฏิบัติตัวเหมือนผู้ใหญ่ พวกเขามักจะออกไปข้างนอกเป็นระยะเวลานาน และมักจะกระตือรือร้นเป็นพิเศษเมื่ออยู่กลางแจ้ง ดังนั้นพวกเขาจึงสูดอากาศกลางแจ้งที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่
- นอกจากนี้มลพิษทางอากาศยังอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ในทางอ้อม คุณแม่ตั้งครรภ์ที่หายใจเอาอากาศเสียเข้าไปมีแนวโน้มที่จะคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้ทารกแรกเกิดตัวเล็กและมีน้ำหนักน้อย
ทำไมอนุภาคเล็ก ๆ ในอากาศถึงอันตรายมากสำหรับเด็ก?
- ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในอากาศ อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางระบบประสาทของเด็ก ซึ่งส่งผลเสียต่อพัฒนาการทั้งทางจิตใจและร่างกายได้ มลพิษทางอากาศในระดับสูงส่งผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา (IQ) ของเด็ก ซึ่งเทียบเท่ากับการขาดเรียนตลอดทั้งปีในโรงเรียน
- แม้ว่ามลพิษทางอากาศจะอยู่ในระดับต่ำ ก็อาจทำลายการทำงานของปอด และอาจนำไปสู่ปัญหาโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคหลอดเลือดหัวใจในภายหลัง
- มลพิษทางอากาศเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของเด็ก ตามที่องค์การอนามัยโลกบันทึกไว้ คิดเป็นเกือบ 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี
วิธีปกป้องลูกเมื่ออยู่ที่บ้าน
แม้ว่าคุณแม่จะรู้สึกสะอาดและปลอดภัย เมื่ออยู่ภายในบ้าน แต่อนุภาคขนาดเล็กนั้นไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสามารถเข้าไปในบ้านได้อย่างง่ายดาย วิธีต่อไปนี้จะช่วยปกป้องลูกจากฝุ่นละอองได้:
- ปิดประตู หน้าต่างในวันที่มีมลพิษสูง
- หาเครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรอง HEPA
- เนื่องจากเครื่องปรับอากาศส่วนใหญ่ไม่สามารถกรองอนุภาคอันตรายขนาดเล็กได้ คุณแม่จึงควรเพิ่มตัวกรองในเครื่องปรับอากาศที่บ้าน แบบที่ติดตั้งง่าย และสามารถช่วยกรองอนุภาคขนาดเล็กได้บางส่วน
- หากบ้านของคุณแม่อยู่ใกล้กับถนนใหญ่ ควรคิดอยู่เสมอว่า แม้ว่าคุณภาพอากาศจะดี แต่ยานพาหนะบนถนนสายหลักสามารถสร้างระดับมลพิษได้สูงและกระจายไปได้ไกลถึง 250 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศในบ้านได้
วิธีปกป้องลูกเมื่ออยู่ในรถ
เด็ก ๆ มีความเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษทางอากาศแม้เมื่ออยู่ในรถ เนื่องจากอากาศเป็นพิษจากสภาพการจราจรบนท้องถนน ซึ่งระบบกรองอากาศของรถยนต์ไม่สามารถกรองได้อย่างสมบูรณ์:
- หากคุณแม่ต้องขับรถในสภาพการจราจรติดขัด ให้ตั้งช่องระบายอากาศให้เป็นแบบหมุนวนภายในรถยนต์ และปิดกระจกหน้าต่างให้สนิทก่อนที่จะออกรถไปเจอกับการจราจรติดขัดบนท้องถนน และควรพยายามรักษาระยะห่างจากรถคันข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล หรือรถยนต์ที่มีควันดำอย่างเห็นได้ชัด
- ติดตั้งแผ่นกรองอากาศ HEPA สำหรับห้องโดยสารในรถ หากรถของคุณแม่มีตัวกรอง HEPA ที่ติดตั้งไว้แล้วตรวจดูให้แน่ใจว่าได้เปลี่ยนตามกำหนดเป็นประจำ
- นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถซื้อเครื่องฟอกอากาศสำหรับรถยนต์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของอากาศภายในรถโดยไม่ต้องดัดแปลงรถ
วิธีปกป้องลูกเมื่ออยู่กลางแจ้ง:
- จำกัดเวลาที่ใช้นอกบ้านในวันที่มีมลพิษสูง
- หากคุณแม่ต้องการพาลูกไปเดินเล่นข้างนอก ควรหลีกเลี่ยงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น
- หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงถนนที่มีมลภาวะทางอากาศสูงได้ ควรให้ลูกสวมหน้ากากอนามัยสำหรับกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดสำหรับเด็ก หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้สำหรับเด็ก
วิธีตรวจสอบคุณภาพอากาศ:
- คุณแม่สามารถตรวจสอบมลพิษในกรุงเทพฯ ได้ในเว็บไซต์ของดัชนีคุณภาพอากาศโลก แต่ไม่ควรดูเพียงแค่คะแนนโดยรวม ควรขยายแผนที่ และมองหาเซ็นเซอร์ที่อยู่ใกล้บ้านที่สุด บางครั้งอากาศโดยรวมอาจอยู่ในระดับดี แต่อากาศในพื้นที่ใกล้บ้านของคุณแม่อาจไม่ปลอดภัย
- หากต้องการตรวจสอบมลพิษที่บ้าน ควรซื้อเครื่องตรวจค่าฝุ่นละออง PM2.5
อากาศระดับใดที่ปลอดภัยสำหรับลูก?
เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะได้รับการปกป้องอย่างเต็มที่จากภัยคุกคามที่มองไม่เห็นนี้ ควรพยายามให้เขาอยู่ในสภาพแวดล้อมอากาศที่ดี ที่ระดับมลพิษทางอากาศต่ำกว่า 50 หากคุณแม่วัดค่ามลพิษทางอากาศได้เป็นระดับปานกลางหรืออยู่ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มที่ไวต่อการกระตุ้น (เด็กเล็กเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวที่สุด) ควรระมัดระวังให้มาก:
- 0 – 50 ดี: ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
- 51 – 100 ปานกลาง: อาจส่งผลต่อสุขภาพของกลุ่มที่ไวต่อการกระตุ้น
- 101 – 150 ไม่ดีต่อกลุ่มเสี่ยง: ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่ไวต่อการกระตุ้น (ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ) ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
- 151 – 200 ไม่ดีต่อสุขภาพของคนทั่วไป: ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้งสำหรับทุกคน
- 201 – 300 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ: ห้ามทำกิจกรรมกลางแจ้ง และจำกัดกลุ่มผู้ที่ไวต่อการกระตุ้นจากการสัมผัสกับอากาศภายนอก
- 301 – 500 อากาศเป็นพิษรุนแรง: มีความเสี่ยงสูงต่อคนทุกกลุ่ม
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (6 มีนาคม 2020)