จะเกิดอะไรขึ้นหากลูกน้อยแพ้นมวัว
สุขภาพของลูก
ทารกบางคนอาจเกิดอาการแพ้จากการดื่มนมวัว หรือนมผงที่ผลิตจากนมวัว แม้ว่าระดับของปฏิกิริยาอาจแตกต่างกันไปในทารกแต่ละคน อาการเหล่านั้นอาจเกิดจากการแพ้นมวัวโดยตรง (cow’s milk protein allergy) หรือเกิดจากการย่อยแลคโตสไม่ได้ (lactose intolerance)
อาการแพ้นมวัวคืออะไร
อาการแพ้นมของวัวเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดพลาด โดยมองว่าโปรตีนในนมวัวนั้นเป็นสารแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และภูมิคุ้มกันได้เข้าโจมตีโปรตีนเหล่านั้น อาการแพ้นมวัวเป็นอาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อยที่สุดในวัยเด็ก และพบในประมาณ 7% ของทารกที่กินนมผง อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้น และอาจหายไปเองในภายหลัง
แม้ว่าจะพบได้ยาก แต่เด็กที่กินนมแม่ก็สามารถเกิดอาการแพ้โปรตีนนมวัวจากอาหารที่คุณแม่รับประทานแล้วส่งผ่านไปยังนมแม่ได้เช่นกัน
อาการแพ้นมวัวมี 2 ประเภท
- อาการแบบเฉียบพลัน ซึ่งมักจะเกิดอาการทันทีหลังจากกินนมวัว
- อาการเกิดแบบช้า ซึ่งโดยปกติอาการจะเริ่มขึ้นหลายชั่วโมง หรือหลายวันหลังจากกินนมวัว
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว
ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของการแพ้นมวัวซึ่งแตกต่างจากการแพ้แลคโตส คือ อาการแพ้อาจเกิดขึ้นกับส่วนอื่น ๆ ของร่างกายนอกเหนือจากระบบย่อยอาหาร อาการทั่วไป ได้แก่ :
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้องจุกเสียด หรือท้องผูก
- ปฏิกิริยาทางผิวหนัง เช่น ลมพิษ หรือผื่นคันหรือบวมที่ริมฝีปาก ใบหน้า และดวงตา
- อาการคล้ายไข้ภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก หรือน้ำมูกไหล
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ
- ปากและคอบวม
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ ไอ หายใจถี่ หรือหายใจลำบาก
กรณีที่ทารกมีปฏิกิริยาทางผิวหนัง ร่วมกับปัญหาระบบทางเดินหายใจ และอาการปากและคอบวมนั้น เป็นสัญญาณของการแพ้รุนแรง ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที
การรักษาอาการแพ้นมวัว
หากคุณแม่สงสัยว่าลูกน้อยมีอาการแพ้นมวัว คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม แพทย์อาจส่งต่อไปยังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ หรือโภชนาการอาหาร ส่วนสำคัญของการรักษาคือ การหยุดให้ลูกกินนมวัวในช่วงแรก ๆ
ในกรณีที่คุณแม่ให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ปัญหาอาจมาจากอาหารของคุณแม่เอง และคุณแม่จะได้รับคำแนะนำให้หยุดทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวชั่วคราวเพื่อรอดูอาการ และควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมโดยปกติการแพ้อาหารผ่านทางนมแม่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
การแพ้แลคโตส (ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง)
การแพ้แลคโตสเป็นภาวะที่ร่างกายไม่มีเอนไซม์สำหรับการย่อยน้ำตาลแลคโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลที่พบได้ตามธรรมชาติในนม ดังนั้นจึงแตกต่างจากโรคภูมิแพ้ซึ่งเป็นปัญหาจากระบบภูมิคุ้มกัน
ภาวะนี้อาจมีมาแต่กำเนิด โดยทารกอาจเกิดมาโดยไม่มีเอนไซม์แลคเตส หรืออาจเกิดขึ้นภายหลังจากการมีภาวะการติดเชื้อในลำไส้
การวินิจฉัยอาการย่อยแลคโตสไม่ได้
อาการของการแพ้แลคโตสมักจำกัดอยู่ในระบบทางเดินอาหาร เช่น:
- ท้องร่วง
- อาเจียน
- มีเสียงท้องร้อง และปวดท้อง
- มีลมในท้อง
การรักษาอาการแพ้แลคโตส
การรักษาอาการแพ้แลคโตสนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการแพ้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการอาหารเพื่อขอคำแนะนำ ในบางกรณีทารกอาจสามารถรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวได้ แต่จำกัดอยู่ในปริมาณที่เล็กน้อย
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (17 พฤศจิกายน 2021)