ลูกทานยาก
การให้อาหารลูก
เป็นเรื่องปกติที่เด็กเล็กจะปฏิเสธการรับประทานอาหาร ในความเป็นจริงแล้วเด็ก ๆ เกือบทุกคนจะมีช่วงเวลาของการปฏิเสธอาหารใหม่ โชคดีที่เด็กส่วนใหญ่สามารถผ่านระยะนี้ไปได้ แม้ว่าบางครั้งอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
ลูกของคุณแม่รับประทานอาหารเพียงพอหรือไม่?
คุณแม่ไม่ควรต้องกังวลกับสิ่งที่ลูกรับประทานในแต่ละวัน แต่ควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขารับประทานเป็นภาพรวมในแต่ละช่วงสัปดาห์ เพราะหากลูกสดใสร่าเริง กระตือรือร้น และน้ำหนักขึ้นเป็นปกติ นั่นหมายความว่าเขาก็อาจรับประทานอาหารอย่างเพียงพอแล้ว
พยายามรักษาสมดุลของอาหาร
คุณแม่ควรแน่ใจว่าลูกได้รับประทานอาหารจาก 4 กลุ่มหลักดังต่อไปนี้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าลูกจะชอบหรือไม่ก็ตาม:
- ผักและผลไม้
- คาร์โบไฮเดรต: ข้าว ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว พาสต้า และผลิตภัณฑ์จากแป้งอื่นๆ
- นม ผลิตภัณฑ์จากนม หรือผลิตภัณฑ์ทางเลือกอื่นๆ
- โปรตีน: ถั่วต่าง ๆ ปลา หรือไข่
วิธีแนะนำอาหารใหม่ ๆ ให้ลูกน้อย
เริ่มต้นให้ลูกลองรับประทานอาหารใหม่ที่ไม่เคยรับประทานมาก่อนทีละน้อย และในระหว่างที่คุณแม่ทำเช่นนั้น คุณแม่สามารถย้อนกลับไปให้ลูกลองอาหารที่เขาเคยไม่ชอบมาก่อนได้ เพราะรสนิยมในการรับประทานอาหารของลูกจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ วันนี้พวกเขาอาจไม่ชอบอาหารบางอย่าง แต่เดือนถัดมาพวกเขาอาจจะชอบก็ได้
พยายามเสนออาหารที่หลากหลาย ซึ่งคุณแม่อาจต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าที่ลูกจะยอมรับประทานอาหารบางชนิด
เคล็ดลับสำหรับคุณแม่ที่มีลูกรับประทานยาก
- ให้ลูกรับประทานอาหารเหมือนกับทุก ๆ คนในครอบครัว แต่อย่าใส่เกลือลงในอาหารของลูก (ในเกลือมีโซเดียมซึ่งหากเด็กได้รับในปริมาณมากเกินไปจะส่งผลที่ไม่ดีต่อสุขภาพ)
- วิธีที่ดีที่สุดสำหรับลูกในการเรียนรู้ที่จะรับประทานและเพลิดเพลินไปกับอาหารใหม่ คือเลียนแบบพฤติกรรมของคุณแม่ พยายามรับประทานอาหารพร้อมกับเขาให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
- เริ่มให้ในปริมาณน้อย ๆ และชมเชยลูกเมื่อเขารับประทานอาหารนั้น ๆ แม้ว่าเขาจะรับประทานไปเพียงเล็กน้อยก็ตาม
- หากลูกปฏิเสธอาหาร อย่าบังคับให้เขารับประทานมัน คุณแม่เพียงแค่นำอาหารออกไปโดยไม่พูดอะไร พยายามสงบสติอารมณ์ หลังจากนั้นลองให้อาหารนั้นอีกครั้งในวันอื่น
- อย่ารอจนกว่าลูกจะหิวหรือเหนื่อยเกินกว่าที่จะกิน
- ลูกอาจเป็นคนกินช้า คุณแม่อาจต้องใช้ความอดทนมากสักหน่อย
- อย่าให้ลูกรับประทานของว่างระหว่างมื้อมากเกินไป
- ไม่ควรใช้อาหารเป็นรางวัล เพราะจะทำให้ลูกคิดว่าขนมเป็นสิ่งที่ดี แต่ผักนั้นไม่น่ากิน ควรให้รางวัลแก่พวกเขาด้วยการกอด พาไปเที่ยวที่สวนสาธารณะ หรือเล่นเกมสนุกๆ
- ทำให้ช่วงเวลารับประทานอาหารเป็นเวลาที่สนุกสนาน และไม่ใช่แค่การนั่งกินอย่างเดียวเท่านั้น คุณแม่อาจพูดคุย เล่นเกม หรือแม้แต่ร้องเพลงที่โต๊ะอาหารได้
- หากคุณแม่รู้จักเด็กคนอื่นที่มีอายุเท่า ๆ กัน และเป็นคนรับประทานเก่ง ลองนัดให้พวกเขามารับประทานอาหารกลางวันร่วมกับลูกของคุณแม่ เพราะเด็ก ๆ มักชอบที่จะเลียนแบบเด็กคนอื่นๆ
- ชักชวนผู้ใหญ่คนอื่นในบ้านให้รับประทานอาหารร่วมกับลูกของคุณแม่ บางครั้งเด็กจะรับประทานอาหารเพื่ออวดคนอื่น เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย โดยที่คุณแม่อาจไม่ต้องทำอะไร
- เปลี่ยนวิธีการปรุงอาหาร ตัวอย่างเช่น ลูกอาจปฏิเสธแครอทที่ปรุงสุกแล้ว แต่เพลิดเพลินกับแครอทขูดแบบดิบ
- ดึงความสนใจของลูกด้วยสิ่งที่น่าตื่นเต้นในขณะรับประทานอาหาร เช่น การชี้นกบนท้องฟ้าในขณะที่ป้อนอาหารไปด้วย วิธีนี้มักจะใช้ได้ผลกับเด็ก ๆ ที่รับประทานยาก
หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือและน้ำตาล
ไม่ว่าคุณแม่จะพยายามให้อาหารชนิดใดกับลูก ควรพยายามหลีกเลี่ยงเกลือและน้ำตาลเพราะทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก อาหารโปรดของเด็ก ๆ ที่มีเกลืออยู่มาก ได้แก่ พิซซ่า มันฝรั่งทอด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และของหวานจานโปรดที่มีน้ำตาลอยู่มาก ได้แก่ ช็อคโกแลต อมยิ้ม ขนมหวาน และแม้แต่อาหารธรรมดาที่มักมีน้ำตาลปริมาณมาก เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง คุณแม่ควรพยายามหลีกเลี่ยงทั้งเกลือและน้ำตาล เนื่องจากจะยิ่งเป็นการยากที่จะห้ามไม่ให้เด็ก ๆ รับประทาน เมื่อพวกเขาเริ่มคุ้นเคยกับอาหารเหล่านั้นแล้ว
กฎง่ายๆ 3 ข้อสำหรับการหลีกเลี่ยงเกลือและน้ำตาล:
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน
- หลีกเลี่ยงอาหารจากร้านต่าง ๆ หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าผ่านการปรุงมาอย่างไร
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
คุณแม่ควรโทรปรึกษาหรือพาลูกไปพบแพทย์ เมื่อลูกมีอาการดังต่อไปนี้:
- น้ำหนักลด
- อ่อนเพลีย
- ขาดน้ำ
- อาเจียนอย่างต่อเนื่อง
- มีอาการท้องร่วงอย่างต่อเนื่อง
- มีอาการปวดท้อง
- หากคุณแม่กังวลว่าลูกจะรับประทานอาหารไม่เพียงพอ
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (30 มิถุนายน 2020)