วิธีให้นมลูกช่วง 4 – 7 เดือน
การให้อาหารลูก
ในช่วงอายุ 4-7 เดือน ทารกส่วนใหญ่จะเริ่มได้รับประทานอาหารแข็ง ถึงแม้ว่าสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา (AAP) จะแนะนำให้ทารกน้อยเริ่มทานอาหารแข็งเมื่อพวกเขามีอายุ 6 เดือน คุณแม่สามารถเริ่มให้พวกเขาทานอาหารแข็งเร็วขึ้นกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูกน้อยและความต้องการทางโภชนาการ
หากคุณแม่ไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นเมื่อไหร่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ลูกทานอาหารแข็ง
ลูกพร้อมที่จะทานอาหารแข็งแล้วหรือยัง?
คุณสามารถสังเกตลักษณะต่อไปนี้ เพื่อดูว่าลูกน้อยพร้อมรับประทานอาหารแข็งแล้วหรือยัง:
- ลูกสามารถยกศรีษะได้ด้วยตนเองแล้วหรือยัง? ทารกน้อยควรมีทักษะในการควบคุมศรีษะและคอที่ดี และสามารถนั่งเองได้
- ลูกน้อยให้ความสนใจกับอาหารหรือไม่? หากไม่สนใจในอาหาร ก็อาจจะเร็วเกินไปในการให้เขาทานอาหารแข็ง
- ปฏิกิริยาดันลิ้นของลูกน้อยเป็นอย่างไร? หายไปหรือลดน้อยลงหรือไม่? ปฏิกิริยานี้ช่วยป้องกันไม่ให้อาหารติดคอ แต่ก็ทำให้พวกเขาสามารถดันอาหารออกจากปากได้
ทดสอบปฏิกิริยาดันลิ้นอย่างไร?
คุณพ่อคุณแม่สามารถทดสอบได้ว่าลูกยังมีปฏิกิริยาดันลิ้นอยู่หรือไม่โดยการให้ช้อนเปล่า ๆ หรือใส่น้ำนมแม่หรือนมผงที่ผสมแล้วเล็กน้อยที่ช้อนให้ลูกน้อยลองทาน หากลิ้นของลูกดันมาข้างหน้าและกันช้อนเอาไว้ หมายความว่าเขายังมีปฏิกิริยาตอบสนองนี้อยู่ หากปากของลูกน้อยเปิดและสามารถนำช้อนเข้าปากได้ หมายความว่าปฏิกิริยานี้กำลังลดลงหรือหายไป ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ว่าลูกอาจมีความพร้อมในการทานอาหารแข็งแล้ว
เริ่มต้นให้อาหารแข็งแก่ลูกอย่างไร?
เมื่อแพทย์ของทารกน้อยบอกว่าสามารถให้อาหารแข็งกับเขาได้แล้ว ลองให้ลูก เริ่มทานอาหารแข็งเมื่อพวกเขารู้สึกหิว ให้อาหารเมื่อลูกน้อยนั่งลำตัวตรงหรือนั่งบนตักของคุณ
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารชนิดแรกที่ทารกส่วนใหญ่จะได้ทานคือผลไม้ที่มีความนิ่ม ผักต้มนิ่ม (เช่น ฟักทอง) หรือข้าวบดผสมกับนมแม่หรือนมผง คุณแม่สามารถให้ลูกลองดมและชิมอาหารโดยนำอาหารไปไว้ใกล้ ๆ ปากของเขา
เนื่องจากตอนนี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นแนะนำอาหารแข็ง อย่าเพิ่งท้อแท้หากลูกน้อยปฏิเสธอาหารในการพยายามสองสามครั้งแรก ลองอีกครั้งหลังจากสองสามนาทีผ่านไป ทั้งนี้อาจจะใช้เวลาสักหน่อยเพื่อให้ทารกน้อยเรียนรู้การทานอาหารแข็ง และคุณแม่อาจยังต้องให้น้ำนมแม่และนมผงในปริมาณเท่าเดิมอยู่ในระหว่างช่วงเวลาการเรียนรู้นี้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
ทารกบางคนสามารถเกิดอาการแพ้อาหารบางชนิด คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประวัติการแพ้อาหารในครอบครัว โดยปกติแล้วไม่ควรให้ลูกน้อยทานน้ำผึ้งจนกว่าเขาจะมีอายุมากกว่า 12 เดือน เพราะน้ำผึ้งสามารถก่อให้เกิดโรคโบทูลิซึม (botulism) ในเด็กได้ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกทานนมวัวที่ไม่ใช่สูตรสำหรับทารกจนกว่าจะพ้นวันเกิดปีแรก
อาการที่บ่งบอกถึงการแพ้อาหารหรืออาการแพ้ต่าง ๆ มีดังนี้:
- ผื่นแดง
- ท้องอืดหรือมีลมมาก
- ท้องเสีย
- อาเจียน
เคล็ดลับในการให้ลูกทานอาหารแข็ง
นี่คือสิ่งที่ควรรู้หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการทำอาหารให้ลูกเองที่บ้าน:
- ล้างมือให้สะอาด ล้างมือให้ทั่วและล้างให้บ่อยครั้ง และทำตามกฏเกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร
- แช่แข็งอาหาร ส่วนที่ยังไม่ใช้ในทันทีแทนที่จะอัดใส่กระป๋อง
- ใช้วิธีการทำอาหาร ที่ช่วยกักเก็บวิตามินและแร่ธาตุเพื่อถนอมสารอาหารให้ลูกน้อยได้มากที่สุด
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกน้อยทาน บีทรูท ผักโขม ถั่วแขก สควอชหรือแครอทหากพวกเขาอายุน้อยกว่า 4 เดือน อาหารเหล่านี้มีปริมาณสารไนเตรตที่สูงและอาจก่อให้เกิดโรคโลหิตจางในเด็กได้
- หลีกเลี่ยงการให้อาหารลูกน้อยจากกระปุกโดยตรง ตักอาหารบางส่วนจากกระปุกใส่ชามเมื่อต้องการให้ลูกน้อยทานอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่อยู่ในปากของลูกน้อยปะปนไปในอาหารที่อยู่ในกระปุก
- ทิ้งอาหารทารกที่แช่ตู้เย็น หากไม่ได้ใช้ภายในเวลา 1 สัปดาห์
ไม่ว่าคุณจะเลือกวิธีการซื้ออาหารหรือเตรียมอาหารเอง โปรดทราบว่าในช่วงแรกทารกควรรับประทานอาหารที่บดละเอียดและให้ทานทีละอย่างเพื่อดูว่าลูกน้อยแพ้อาหารหรือไม่
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (8 กรกฎาคม 2021)