ไข้
สุขภาพของลูก
เด็กที่สุขภาพดีทุกคนอาจมีไข้บ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่หลายคนมักจะรู้สึกกังวลเมื่อลูกเป็นไข้ครั้งแรก
ไข้คืออะไร?
หากลูกของคุณแม่มีไข้ นั่นหมายความว่าอุณหภูมิร่างกายของลูกจะสูงกว่าปกติ โดยทั่วไปแล้ว อาการนี้เกิดขึ้นจากการตอบสนองตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเด็กต่อการติดเชื้อไวรัส (หรือแบคทีเรีย) เด็ก ๆ ที่แข็งแรงส่วนใหญ่สามารถทนต่ออาการไข้ได้ดี
อุณหภูมิปกติเป็นอย่างไร?
อุณหภูมิปกติของร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 37°C (เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิตอลเป็นเครื่องวัดประเภทที่ดีที่สุด ซึ่งจะให้การอ่านค่าอุณหภูมิได้แม่นยำที่สุด)
อ่านค่าได้ 38 – 38.9°C คือมีไข้เล็กน้อย
อ่านค่าได้ 39 – 39.9°C คือมีไข้สูง
อ่านค่าได้ 40°C ขึ้นไป คือมีไข้สูงมาก
ระยะของไข้ปกติ
- เมื่อลูกเจอกับอากาศหนาวเป็นครั้งแรก หรือแม้จะเป็นเพียงอากาศเย็น คุณแม่อาจสัมผัสได้ว่าศีรษะของลูกอุ่น แต่มือและเท้าเย็น แก้มของลูกอาจแดงและไม่ค่อยกระปรี้กระเปร่า เมื่อลูกของคุณแม่มีอาการมือและเท้าเย็น คุณแม่ควรให้ลูกนอนบนเตียงอุ่น ๆ และวางถุงน้ำร้อนไว้ใกล้ๆ
- เมื่อร่างกายของลูกปรับอุณหภูมิได้อย่างเหมาะสมโดยมือและเท้าเริ่มกลับมาอุ่นอีกครั้ง ในช่วงนี้พยายามทำให้ร่างกายของลูกเย็นลงอย่างช้า ๆ โดยวางผ้าเช็ดตัวเย็น ๆ ไว้บนหน้าผาก ข้อพับและลำคอ
- เมื่อความร้อนภายในร่างกายค่อย ๆ ระบายออกไป ลูกจะรู้สึกร้อนและเหงื่อออก ร่างกายจะเริ่มผ่อนคลายขึ้น และอาจรู้สึกง่วงนอน
วิธีการรักษาอาการไข้ที่ไม่รุนแรง
อาการไข้ส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียง 3 – 4 วัน และหากมีไข้เพียงเล็กน้อยก็อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเลย หากอาการไข้ไม่รุนแรง คุณแม่สามารถดูแลลูกเองได้ตามวิธีต่อไปนี้:
- ให้นมมากขึ้น สำหรับทารกที่ยังกินนมแม่หรือนมผงอยู่
- ให้ลูกดื่มน้ำมากๆ สำหรับเด็กโต คุณแม่ควรให้ลูกจิบน้ำบ่อยครั้ง น้ำช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง และช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากเหงื่อ การดื่มน้ำสะอาดเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
- ให้ลูกสวมเสื้อผ้าที่เบาสบาย และใช้ชุดเครื่องนอนที่ไม่หนาจนเกินไป ปรับอุณหภูมิห้องให้เป็นปกติ
- ใช้ผ้าเช็ดตัวเย็น ๆ วางลงบนใบหน้า แขน และคอของลูก และเช็ดตัว เพื่อช่วยลดไข้และช่วยให้ลูกรู้สึกเย็นลง อย่าใช้วิธีการระบายความร้อนอย่างรวดเร็วที่ทำให้ลูกหนาวสั่น (การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อโดยการสั่นจะยิ่งไปเพิ่มอุณหภูมิร่างกายของเด็ก และอาจทำให้อาการไข้ของพวกเขาแย่ลง)
- คุณแม่อาจให้ยาพาราเซตามอลกับลูก เพื่อลดไข้และลดอาการปวดหัว หรือปวดตามตัวได้ โดยใช้ในขนาดปกติตามที่ระบุบนฉลากยา และไม่ควรให้ยาชนิดอื่นกับลูกนอกจากแพทย์จะเป็นผู้สั่งยา
- ตรวจสอบสีผิว การตอบสนอง การหายใจของลูก และตรวจดูว่าลูกได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ หลังจากให้ยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน
- หมั่นตรวจดูอาการของลูกในตอนกลางคืน
- พาลูกไปพบแพทย์ หากอาการไข้ไม่ดีขึ้น หรือมีไข้สูงขึ้น
สัญญาณบ่งบอกถึงอันตราย
คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันทีหากลูกมีอาการดังต่อไปนี้:
- ลูกอายุต่ำกว่า 3 เดือนและมีไข้ แม้จะมีไข้เพียงเล็กน้อยก็ต้องพาไปพบแพทย์!
- ลูกอายุ 3 – 6 เดือนและมีไข้สูง (วัดอุณหภูมิร่างกายได้เกิน 39ºC)
- ลูกยังคงมีไข้ต่อเนื่อง หลังจากการดูแลรักษาเองที่บ้าน 3 วัน และดูเหมือนจะป่วยมากขึ้น
- ลูกมีอาการหนาวสั่น หรือตัวสั่นอย่างควบคุมไม่ได้ หรือหนาวสั่นจนฟันกระทบกัน
- ลูกมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง และไม่ดีขึ้นหลังจากทานยาแก้ปวด
- ลูกหายใจผิดปกติ หรือมีปัญหาในการหายใจ
- ลูกมีอาการสับสน ง่วงนอนผิดปกติ หรือไม่สามารถปลุกให้ตื่นได้เต็มที่
- ลูกมีอาการอ่อนแรง หรือบ่นว่าปวดขา
- มีอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ภาพหลอน อาเจียน คอแข็ง ผื่นที่ผิวหนัง)
- สำหรับเด็กโตคุณแม่จำเป็นที่จะต้องดูอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมร่วมด้วย และดูว่าลูกมีอาการอย่างไร โรคที่ไม่รุนแรงบางชนิดอาจทำให้เกิดไข้สูง แต่โรคร้ายแรงบางชนิดก็อาจมีไข้เพียงเล็กน้อยได้
- หากลูกมีอาการชัก
การชักคืออะไร?
บางครั้งอาการไข้อาจนำไปสู่การชักได้ ซึ่งลูกอาจมีอาการกระตุก และเกร็งหรืออ่อนแรง เด็ก ๆ ยังอาจหมดสติ หรือไม่รู้สึกตัว หรือหายใจลำบากได้ บ่อยครั้งที่อาการชักเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่หากเกิดขึ้น ให้คุณแม่ทำตามขั้นตอนเหล่านี้:
- จัดให้ลูกนอนหงาย
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกไม่ได้สำลักจากการอาเจียน
- หากอาการชักไม่หายไปภายใน 5 นาที ให้โทรเรียกรถฉุกเฉิน
- พาลูกไปพบแพทย์เมื่อลูกหยุดชัก
อย่าลืมสิ่งสำคัญ
การมีไข้เล็กน้อยมักเกิดจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส และไม่น่ากังวลนักหากไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ตรวจดูอาการโดยรวมของลูก และตรวจสอบอาการอื่น ๆ และที่สำคัญที่สุดคือให้ความสนใจดูแลลูกเป็นพิเศษ และดูให้แน่ใจว่าลูกได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ เพี่อให้เขาสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (10 กุมภาพันธ์ 2020)