โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อาการคนท้อง
เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นลักษณะของโรคเบาหวานในสตรีตั้งครรภ์ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
สาเหตุของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักเกิดขึ้นหากร่างกายของคุณแม่ไม่สามารถผลิตอินซูลิน (ฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด)ได้เพียงพอ ที่จะตอบสนองความต้องการอินซูลินที่เพิ่มมากขึ้นในขณะตั้งครรภ์ ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ และส่วนใหญ่จะหายไปหลังคลอด แต่อาจทำให้คุณแม่มีโอกาสในการเป็นโรคเบาหวานได้ในภายหลัง
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อครรภ์อย่างไร?
หากไม่ได้รับการรักษา โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยทารกอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิด ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานเมื่อโตขึ้นในอนาคต การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดมากผิดปกติซึ่งถือเป็นเรื่องอันตราย และภาวะกลุ่มอาการหายใจลำบากในทารกแรกเกิด ซึ่งเป็นภาวะที่ปอดยังพัฒนาได้ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดอีกด้วย
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีผลกระทบต่อคุณแม่อย่างไร?
คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีโอกาสในการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะต้องทำการผ่าตัดคลอดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคเบาหวานต่อไปไม่ว่าจะเป็นในขณะตั้งครรภ์หรือไม่ก็ตาม
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักไม่แสดงอาการใด ๆ โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบเมื่อคุณแม่ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ในประเทศไทย แพทย์จะประเมินความเสี่ยงของคุณแม่ และจะพิจารณาทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณแม่สามารถขอให้คุณหมอตรวจเพิ่มเติมได้
ใครมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์?
คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ แต่บางคนอาจมีความเสี่ยงสูงกว่า หากมีข้อบ่งชี้ดังต่อไปนี้:
- น้ำหนักตัวค่อนข้างมาก หรือมีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 ขึ้นไป
- เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาแล้วในครรภ์ก่อนหน้านี้
- เคยให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักมากผิดปกติมาก่อน
- มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
วิธีรับมือกับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
การรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์คือการป้องกัน โดยคุณแม่อาจเริ่มทำตามวิธีดังต่อไปนี้:
- รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารแปรรูป และน้ำผลไม้
- รับประทานผลไม้สดและผัก
- หมั่นตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อให้แน่ใจว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย
หากปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายแล้ว ระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงอยู่ คุณแม่อาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลร่วมด้วย อาจเป็นยาเม็ด หรือเป็นการฉีดอินซูลิน ซึ่งคุณแม่ต้องปรึกษากับแพทย์ผู้รับฝากครรภ์
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (4 มีนาคม 2020)