ริดสีดวงทวาร
อาการคนท้อง
ริดสีดวงทวาร คือภาวะที่เส้นเลือดบวมอักเสบภายในลำไส้ตรงส่วนล่าง หรือโดยรอบทวารหนัก
สาเหตุของริดสีดวงทวาร
ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์มีผลทำให้เส้นเลือดของคุณแม่ขยาย ซึ่งรวมถึงเส้นเลือดลำไส้ตรงส่วนล่างและโดยรอบทวารหนักด้วย และอาการท้องผูกก็เป็นสาเหตุทำให้อาการริดสีดวงทวารแย่ลงเช่นกัน
ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นริดสีดวงทวาร?
โรคริดสีดวงทวารไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์เท่านั้น ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ แต่ในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์จะทำให้เส้นเลือดของคุณแม่ขยายมากกว่าปกติและทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้
อาการเป็นอย่างไร?
- คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บและคันภายในทวารหนัก
- คุณแม่อาจรู้สึกถึงอาการบวมของริดสีดวงทวารรอบทวารหนัก
- อาจมีเลือดออกเล็กน้อย รู้สึกอึดอัดหรือเจ็บปวดเวลาเข้าห้องน้ำ
- คุณแม่อาจมีอาการเจ็บปวด เวลาอุจจาระผ่านทวารหนัก และอาจมีมูกเลือดไหลตามออกมาภายหลัง
- คุณแม่อาจรู้สึกว่ายังมีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้ และต้องการเข้าห้องน้ำ
ริดสีดวงทวารสามารถรักษาได้หรือไม่?
โรคริดสีดวงทวารมักจะหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์หลังคลอด
วิธีบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร
วิธีต่อไปนี้อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการริดสีดวงทวารของคุณแม่ได้:
- รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเส้นใย เช่น ข้าวกล้อง หรือข้าวไม่ขัดสี ผักและผลไม้ เพื่อทำให้อุจจาระนิ่มลง
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก
- หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยในการไหลเวียนของเลือด
- ใช้ผ้าชุบในน้ำเย็นจัด บิดหมาด ๆ ประคบเบา ๆ ที่บริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร เพื่อบรรเทาอาการปวด
- ใช้เจลหล่อลื่นทาที่บริเวณริดสีดวงทวาร แล้วค่อย ๆ ดันเบา ๆ เพื่อให้ริดสีดวงทวารหนักกลับเข้าไปด้านใน ในกรณีที่โผล่ออกมา
- หลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระ เพราะอาจทำให้อาการของริดสีดวงทวารแย่ลง
- ทำความสะอาดทวารหนักด้วยน้ำสะอาด หรือกระดาษชำระแบบเปียก
- ใช้วิธีซับทำความสะอาดแทนการถู
- หากไม่สามารถดันริดสีดวงทวารกลับเข้าไปได้ หรือมีอาการปวด บวม แข็งมาก ควรไปพบแพทย์
การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการริดสีดวงทวาร
มียาหลายชนิดที่สามารถช่วยบรรเทาการอักเสบบริเวณทวารหนัก และรักษาอาการเหล่านี้ได้ แต่ไม่สามารถรักษาที่ต้นเหตุของการเกิดริดสีดวงทวารได้
คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรถึงยาที่เหมาะสมเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดของริดสีดวงทวาร อย่าใช้ครีมหรือยาใดโดยไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ก่อน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (3 กุมภาพันธ์ 2020)