การทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้ว (In vitro fertilization)
การตั้งครรภ์
การทำ IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นกระบวนการทางการแพทย์ที่จะนำไข่กับอสุจิมาผสมกันนอกร่างกาย เป็นวิธีที่นิยมใช้เพื่อช่วยในการปฏิสนธิ โดยมีอัตราการทำสำเร็จถึง 50%
เหตุผลที่ควรทำ IVF
คุณพ่อคุณแม่มักเลือก IVF หลังจากได้ลองวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล ต้องการลดปัญหาเรื่องโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ หรือต้องการรู้เพศของเด็ก แพทย์อาจแนะนำการทำ IVF ให้กับผู้หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับท่อนำไข่หรือมดลูกอีกด้วย
ขั้นตอนในการทำ IVF
ในการทำ IVF ไข่กับอสุจิจะถูกผสมกันในห้องทดลอง จากนั้นไข่ที่ผสมเป็นตัวอ่อนจะถูกใส่เข้าไปในมดลูกของคุณแม่เพื่อให้ฝังตัว ซึ่งไข่ที่ใส่เข้าไปอาจจะมีมากกว่า 1 ใบก็เป็นได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
- การเตรียมร่างกาย: คุณแม่จะได้รับยาเพื่อช่วยบำรุงภาวะเจริญพันธุ์เป็นเวลาสองสามเดือน ยานี้จะกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่จำนวนมากขึ้น หลังจากนี้คุณแม่จะต้องมีการทำการอัลตราซาวนด์และตรวจเลือด เพื่อคอยตรวจนับจำนวนไข่ และวัดระดับฮอร์โมนเรื่อย ๆ
- การเก็บไข่: เมื่อไข่สุกแล้ว แพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กที่มีเครื่องดูดตรงปลายทำการดูดไข่ออกมาจากรังไข่
- การผสมเทียม: ไข่และอสุจิจะถูกนำมาใส่ในหลอดทดลอง เพื่อรอให้เกิดการปฏิสนธิ
- การเคลื่อนย้ายตัวอ่อน: หลังการเก็บไข่ 3-5 วัน ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิจะถูกเลือกเพื่อใส่กลับเข้าไปในมดลูกของคุณแม่ จำนวนตัวอ่อนที่ถูกใส่เข้าไปคืนในมดลูกนั้นอาจเป็นได้มากกว่า 1 ตัวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของแพทย์และคนไข้
- รอคอย: หลังจากใส่ตัวอ่อนเข้าไปในมดลูกแล้ว คุณแม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หลังจากนั้น 6-8 สัปดาห์คุณแม่สามารถทานยาที่ช่วยเพิ่มฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของตัวอ่อนในครรภ์ได้ การทำ IVF จะสำเร็จก็ต่อเมื่อตัวอ่อนทำการฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ หากการทำ IVF ครั้งแรกไม่สำเร็จ สามารถลองทำอีกใหม่ในอีก 1 เดือน หรือตามที่แพทย์แนะนำ
ความเสี่ยง
การทำ IVF ถือเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มีหลายขั้นตอน และขึ้นอยู่กับร่างกายของฝ่ายหญิงด้วย ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดถึงความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้ทราบขั้นตอนและเข้าใจอย่างชัดเจน โดยทั่วไปแล้ว การทำ IVF จะมีความเสี่ยงดังต่อไปนี้
- การตั้งครรภ์ลูกหลายคน: มีความเป็นไปได้ที่จะตั้งครรภ์ลูกแฝดสอง หรือแฝดสามหากตัวอ่อนมากกว่าหนึ่งตัวถูกใส่เข้าไปในมดลูก และทุกตัวนั้นฝังตัวลงไปในมดลูกได้สำเร็จ
- ภาวะรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome): ยาที่ใช้เพื่อบำรุงภาวะเจริญพันธุ์ที่คุณแม่จะได้รับในขั้นตอนแรกของการทำ IVF อาจทำให้รังไข่บวม ส่งผลให้ ท้องบวมหรือปวดท้องเล็กน้อยได้
- อาการแทรกซ้อน: กระบวนการเก็บไข่อาจทำให้เนื้อเยื่อที่ปากมดลูกฉีกขาด ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกหรือติดเชื้อได้
ข้อดีของการทำ IVF
การทำ IVF มีข้อดีที่เด่น ๆ ดังนี้
- การคัดกรองทางพันธุกรรม: การทำ IVF ทำให้สามารถคัดเลือกโครโมโซมที่ดี และตัดความผิดปกติทางพันธุกรรมต่าง ๆ ออกไปได้ ดังนั้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีประวัติโรคทางพันธุกรรม ความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับโรคทางพันธุกรรมตกทอดต่อมาก็จะลดลงอย่างมาก
- การเก็บไข่สำรอง: ในการทำ IVF คุณแม่สามารถเก็บไข่สำรอง หรือเก็บตัวอ่อนสำรองโดยแช่แข็งเอาไว้ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่อายุมากและทำ IVF ครั้งแรกไม่สำเร็จ
อัตราการทำสำเร็จในการทำ IVF ตามช่วงอายุ (โดยประมาณ)
- 29% สำหรับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี
- 23% สำหรับผู้หญิงอายุ 35-37 ปี
- 9% สำหรับผู้หญิงอายุ 40-42 ปี
- 3% สำหรับผู้หญิงอายุ 43-44 ปี
งานวิจัยพบว่าการทำ IVF เป็นจำนวน 3 ครั้งจะช่วยเพิ่มอัตราการทำสำเร็จโดยรวมได้ถึง 50%
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 ธันวาคม 2021)