เดือนที่ 2: ทำความรู้จักกันและกัน
พัฒนาการลูกในแต่ละเดือน
ช่วงนี้สถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลายลงกว่าช่วงเดือนแรก คุณพ่อคุณแม่และลูกจะได้ทำความรู้จักกันมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มเข้าใจความต้องการและการตอบสนองของลูกมากขึ้นบ้างแล้ว
คุณแม่และลูกเป็นอย่างไรบ้าง
เสียงร้องไห้ของลูกน้อยน่าจะเริ่มเข้าใจง่ายขึ้น เนื่องจากลูกเริ่มเรียนรู้ที่จะสื่อสารแล้ว ลูกจะเริ่มกินและนอนอย่างเป็นกิจวัตรมากขึ้น ซึ่งทำให้คุณสามารถวางแผนกิจกรรมในแต่ละวันได้ง่ายขึ้น ช่วงนี้ลูกน้อยอาจผงกหัวขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำได้
ตอนนี้ร่างกายของคุณแม่น่าจะฟื้นฟูอย่างเต็มที่ คุณแม่บางคนอาจเริ่มออกกำลังกายเบา ๆ ได้บ้าง แต่หากคุณยังรู้สึกไม่ปกติ หรือรู้สึกว่าร่างกายยังไม่เหมือนเดิมก็ไม่เป็นไร เพราะร่างกายแต่ละคนจะฟื้นฟูในเวลาที่แตกต่างกัน
ตอนนี้คุณแม่และลูกน้อยต่างก็รู้สึกสบายใจที่จะอยู่ด้วยกันมากขึ้น จึงเป็นเวลาที่ดีในการเริ่มคิดว่าจะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับลูกได้อย่างไร
ความสัมพันธ์ที่มั่นคงคืออะไร
ในทฤษฎีความผูกพัน เด็กที่มีความสัมพันธ์อย่างมั่นคงกับผู้ดูแลจะมีทัศนคติเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ส่งผลให้เขามีความมั่นใจที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ เนื่องจากหากเขาทำผิดพลาดเขาก็รู้สึกว่ายังมีคนพร้อมสนับสนุนอยู่เสมอ ดังนั้นเด็กที่มีความสัมพันธ์มั่นคงจะมีโอกาสพยายามมากกว่า ทั้งนี้ เมื่อเด็กอยู่ในสภาพจิตใจที่มั่นคงปลอดภัย เขาจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาตัวเองได้ดีที่สุด เนื่องจากพลังงานทั้งหมดของเด็กจะมุ่งไปที่การสังเกตและผจญภัยมากกว่าที่จะอยู่ในโหมดหวาดกลัวและพร้อมจะสู้หรือหนี
จะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงได้อย่างไร
สัมผัสทางกาย: สัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ เช่นการอุ้มลูกในอ้อมกอด และการสัมผัสอย่างแผ่วเบาจะช่วยให้ทารกรู้สึกผ่อนคลาย โดยเฉพาะลูกที่ยังต้องการเวลาในการปรับตัวกับชีวิตนอกท้องแม่อยู่ การโอบอุ้มลูกน้อยไว้ในอ้อมกอดโดยมีสัมผัสที่อบอุ่นจากผิวกายของแม่จะช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ความรู้สึกนี้เป็นรากฐานของความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจ และมีความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคมากขึ้น นับเป็นสิ่งที่เขาต้องการเพื่อที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
การสบตา: ควรสบตาลูกตลอดเวลาขณะให้นม ไม่ว่าจะเป็นการให้ดูดจากขวดหรือเต้านม ลูกน้อยจะเรียนรู้ได้ว่านี่คือการสื่อสารแบบหนึ่ง ซึ่งเขาสามารถใช้เพื่อบอกความต้องการ หรือใช้แสดงความรักได้
พูดคุย อ่านหนังสือ หรือร้องเพลง: เด็กทารกสามารถได้ยินเสียงต่าง ๆ ตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์ ดังนั้นการพูดคุย ร้องเพลง หรืออ่านหนังสือให้เขาฟังจะช่วยย้ำให้ลูกรู้ว่าเขาปลอดภัย และได้รับความใส่ใจ ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่ลูกอีกด้วย
การตอบสนองต่อเสียงร้องไห้: ทารกจะร้องไห้บ่อยมากในช่วงสองสามเดือนแรก เนื่องจากการร้องไห้เป็นวิธีเดียวที่เขาจะสื่อสารความต้องการออกมาได้ การตอบสนองต่อเสียงร้องไห้ของลูกอย่างสม่ำเสมอ และตอบสนองด้วยสัมผัสที่อ่อนโยนจะช่วยให้เขาเชื่อใจคุณ รู้สึกมั่นคงปลอดภัย และวิตกกังวลน้อยลงได้ ทารกแรกเกิดมักจะตกใจง่าย บางครั้งเขาก็อาจร้องไห้เพียงเพราะอยากให้มีคนกอดเพื่อจะได้รู้สึกเหมือนอยู่ในครรภ์อีกครั้ง
ทำไมการสร้างความสัมพันธ์จึงสำคัญ
การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่มั่นคง ซึ่งเป็นรากฐานของพัฒนาการที่ดีของเด็ก เมื่อเด็กรู้สึกว่าเขาสามารถไว้ใจในโลกภายนอกได้ เขาก็จะเปิดใจลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
เด็ก ๆ ที่มีสายสัมพันธ์ที่มั่นคงกับผู้ปกครองมักมีทักษะการจัดการอารมณ์ที่ดี ผลที่ตามมาคือพวกเขาจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นเมื่อโตขึ้น นอกจากนี้เด็ก ๆ ที่มีความสัมพันธ์อย่างมั่นคงกับผู้ปกครองมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จที่โรงเรียน และที่ทำงาน เนื่องจากพวกเขาสามารถยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ได้ และสื่อสารความคิดออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี และแก้ปัญหาได้ดีกว่า
งานวิจัยพบว่าเด็กทารกที่ได้รับความรักและความใส่ใจต่ำ หรือได้รับไม่สม่ำเสมอจะมีโอกาสสูงขึ้นในการเป็นโรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้โอกาสที่เขาจะมีความสุข และประสบความสำเร็จลดน้อยลง หากคุณไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการต่าง ๆ ของลูกได้ การขอความช่วยเหลือจากผู้ดูแลคนอื่น ๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำได้เช่นกัน
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (1 พฤศจิกายน 2023)