เดือนที่ 5: รู้จักกิจวัตรการนอนของลูก
พัฒนาการลูกในแต่ละเดือน
ช่วงนี้ลูกจะตื่นนานขึ้นและมักจะเพลิดเพลินกับการเล่นสิ่งของรอบตัว คุณอาจเริ่มคิดเรื่องการสร้างกิจวัตรการนอนให้ลูกน้อย
คุณแม่และลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ช่วงนี้ลูกอาจใช้มือคว้าของเป็นแล้ว เขาจะอยากหยิบของทุกอย่างที่เอื้อมถึงตลอดเวลา เขาอาจลองเอื้อมมือไปจับนิ้วเท้าในขณะที่นอนหงายอยู่ ความสามารถในการคว้าสิ่งต่าง ๆ เป็นพัฒนาการขั้นสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นว่าลูกเริ่มรู้สึกตัวเองมากขึ้น และกำลังทำความรู้จักกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องการประสานงานระหว่างมือและตา
ในด้านการเล่น และทักษะทางสังคม ตอนนี้ลูกน่าจะตกใจกลัวเสียงดังน้อยลง เขาอาจเริ่มชอบของเล่นที่มีเสียงเพลง และอาจชอบกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหว เช่นการแกว่งตัว โยกตัว เด้งดึ๋ง หรือแม้แต่การเต้น
ในขณะที่ลูกเริ่มนอนน้อยลง และใช้เวลาตื่นเพื่อฝึกทักษะต่าง ๆ นานขึ้น คุณอาจพบว่าแยกแยะสัญญาณเตือนต่าง ๆ ของลูกได้ยากกว่าเดิม เช่นสัญญาณที่บอกว่าเขาหิวหรือเหนื่อย คุณอาจต้องสังเกตพฤติกรรมลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อทำความเข้าใจวงจรการนอนของเขา เพื่อที่จะได้ปรับตารางเวลาการนอนของลูกตามได้
วงจรการนอนของทารกคืออะไร
วงจรการนอนประกอบด้วยสองช่วงหลัก ๆ ได้แก่ช่วงนอนหลับธรรมดา (non-REM sleep) และช่วงหลับฝัน (REM sleep) วงจรการนอนจะเริ่มเมื่อทารกผล็อยหลับ เขาจะเริ่มนอนด้วยช่วงการหลับธรรมดา เริ่มจากช่วงเคลิ้มหลับต่อด้วยการหลับลึก จากนั้นจึงเข้าสู่ช่วงหลับฝันที่อาจมีการฝันเกิดขึ้น โดยทั่วไปแล้ววงจรการนอนของผู้ใหญ่ใช้เวลา 90 นาที ส่วนทารกวัย 5 เดือนจะอยู่ที่ประมาณ 50-60 นาที
โดยทั่วไปแล้วเด็กทารกอาจขยับตัว และทำเสียงในลำคอในช่วงที่นอนหลับธรรมดา แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าช่วงหลับลึกแล้วมักจะนอนนิ่ง ๆ ส่วนช่วงนอนหลับฝัน หรือช่วงเปลี่ยนผ่านจากวงจรหนึ่งไปสู่วงจรต่อไปเขาก็อาจตื่นขึ้นมาได้ เด็กทารกจะใช้เวลานอนหลับฝันเป็นเวลากว่า 50% ของการนอนทั้งหมด ในขณะที่ผู้ใหญ่จะนอนหลับฝันเพียง 20% เท่านั้น นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมลูกอาจตื่นบ่อยในช่วงเวลากลางคืนที่คุณคาดหวังให้เขานอนหลับยาว
ปกติแล้วเด็กทารกวัยนี้จะต้องการนอนประมาณ 15 ชั่วโมงต่อวัน โดยเป็นการนอนตอนกลางคืนประมาณ 10-12 ชั่วโมง และงีบตอนกลางวันประมาณ 2-3 รอบต่อวัน
การนอนเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของลูก ในแต่ละช่วงการนอนทั้งร่างกายและสมองของลูกจะซ่อมแซมตนเองและเติบโตขึ้น ในช่วงวัยนี้ลูกมีความอยากรู้อยากเห็นมากจนแทบอยู่เฉยไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เขาต้องมีกิจวัตรการนอนที่สม่ำเสมอเพื่อช่วยให้เขาได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ
วิธีกำหนดกิจวัตรการนอนของลูก
ปัจจัยที่ช่วยให้นอนหลับ: ปัจจัยที่ช่วยให้นอนหลับคือสิ่งต่าง ๆ ที่เด็กทารกต้องการเพื่อการนอนหลับ เช่นการดูดเต้า หรือการไกวตัว ในการสร้างนิสัยการนอนที่ดี คุณอาจสร้างปัจจัยแวดล้อมที่ช่วยให้นอนหลับตั้งแต่ก่อนนอน โดยให้ลูกอยู่ในที่มืด ไม่มีสิ่งเร้า และมีบรรยากาศผ่อนคลาย ลูกควรได้เห็นสิ่งเหล่านี้ก่อนเข้านอน เมื่อเขาตื่นขึ้นมากลางดึกและได้เห็นสิ่งแวดล้อมเดิม เขาก็จะนอนต่อได้โดยไม่กลัว
กิจวัตรก่อนนอนที่คาดเดาได้: สำหรับเด็ก ๆ บางคนที่เป็นคนนอนยาก การมีกิจวัตรก่อนนอนจะช่วยให้เด็กนอนได้ง่ายขึ้น การทำกิจวัตรที่เด็กคาดเดาได้ไปตามลำดับขั้นตอนเดิมทุกวันจะช่วยเตรียมสภาพจิตใจให้สงบลง และพร้อมต่อการนอนได้
นอนร่วมเตียงกับคุณพ่อคุณแม่: หากลูกน้อยยังไม่พร้อมจะอยู่ห่างพ่อแม่ การนอนร่วมเตียงก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกนอนหลับได้โดยไม่ต้องใช้ตัวช่วยมากนัก เมื่อลูกรู้ว่าพ่อแม่นอนอยู่ข้าง ๆ เขาก็จะรู้สึกปลอดภัยและนอนหลับต่อได้ง่าย
ทำไมจึงควรทำความเข้าใจวงจรการนอนของลูก
พ่อแม่มือใหม่หลายคนพบว่าการทำความเข้าใจรูปแบบการนอนของลูกเป็นเรื่องยาก เนื่องจากรูปแบบการนอนมักไม่ตายตัว และยังเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ตัวอย่างเช่นทารกบางคนอาจนอนต่อเนื่องได้ 5 ชั่วโมงตลอดคืน ส่วนบางคนอาจนอนได้ถึง 10 ชั่วโมงต่อคืน ทั้งนี้ เด็กบางคนอาจนอนต่อเนื่องตลอดคืนไม่ได้จนกว่าจะอายุ 2 ขวบก็เป็นได้
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อทารกอายุมากขึ้น การนอนกลางวันของเขาก็อาจเป็นช่วงสั้นลง และรวมการนอนหลายครั้งเข้ามาอยู่ในการนอนยาวครั้งเดียว โดยจะรวมเป็นการนอนกลางวันครั้งเดียวในช่วงอายุประมาณ 3 ปี ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เด็กบางคนอาจนอนไม่เป็นเวลา และตื่นในเวลาแปลก ๆ เป็นการชั่วคราวได้ ซึ่งมักทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่สับสน
ในขณะที่ลูกน้อยอายุใกล้ครบ 6 เดือน ลูกอาจต้องพบความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นเกิดความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่ ซึ่งอาจไปรบกวนรูปแบบการนอนของลูกได้
เป็นเรื่องธรรมดาที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่อดนอน หรือมีอาการซึมเศร้าอาจสนใจวิธีการที่เรียกว่า การฝึกทารกให้นอน (sleep training) ทำได้โดยการปล่อยให้ทารกร้องไห้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหลับไปเอง เพื่อให้เขานอนได้นานขึ้น อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ทารกร้องไห้เป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เกิดความเครียดสะสม ซึ่งอาจไปรบกวนการเจริญเติบโตของเด็ก รบกวนการซ่อมแซมร่างกาย นอกจากนี้เด็ก ๆ จะเรียนรู้ทักษะการปลอบโยนตัวเอง และการจัดการอารมณ์ได้จากคุณเมื่อคุณสนใจความต้องการของเขาเท่านั้น เขาจะไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้หากโดนทอดทิ้ง
ท้ายที่สุดแล้ว ปัจจัยแวดล้อม เช่น แสง เสียง และปัจจัยทางพันธุกรรมจะมีผลต่อความนอนง่าย และระยะเวลาการนอนของลูก ดังนั้นจึงควรสังเกตลูกอย่างใกล้ชิดและตอบสนองต่อความต้องการต่าง ๆ ของเขาแทนที่จะคอยคาดหวังว่าลูกต้องนอนให้ได้แบบเด็กคนอื่น ๆ และทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเกิดความเครียด
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (1 พฤศจิกายน 2023)