เดือนที่ 7: ทำความเข้าใจความกังวลเมื่อต้องแยกจากพ่อแม่
พัฒนาการลูกในแต่ละเดือน
ในขณะที่เด็กทารกเรียนรู้ว่าตนเองมีตัวตนแยกจากผู้อื่น เขาอาจรู้สึกวิตกกังวลชั่วคราวเมื่อต้องพบคนแปลกหน้า
ในอีกแง่หนึ่ง เขาชอบอยู่กับผู้คนที่เขาคุ้นเคยมากขึ้น
คุณแม่และลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกน่าจะเริ่มแสดงลักษณะนิสัย และบุคลิกเฉพาะตัวออกมามากขึ้น อาหารที่เขาเคยชอบและกินได้บ่อย ๆ ก็อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เขาเลือกอีกต่อไป นั่นเป็นเพราะเขาได้เรียนรู้สิ่งที่ตัวเองชอบและไม่ชอบแล้วนั่นเอง
การสื่อสารของลูกเริ่มชัดเจนและมีเป้าหมายมากขึ้น เช่นส่ายหัวเพื่อบอกว่าไม่ เจ้าตัวน้อยอาจชอบทำหน้าทำตาแบบหนึ่ง และมีสถานที่โปรดของตัวเอง เขาอาจเข้าใจคำที่ใช้บ่อย ๆ เช่น อาบน้ำ คุณแม่ หรือคุณพ่อ เป็นต้น
ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เด็ก ๆ มักเริ่มมีอาการวิตกกังวล ซึ่งเกิดจากความกลัวเมื่อต้องอยู่กับคนแปลกหน้า หรือเขาอาจกลัวเมื่อต้องแยกจากคุณหรือผู้ดูแลหลักคนอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น คุณอาจรู้สึกว่าลูกเริ่มติดคุณมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อเจอผู้คนแปลกหน้า หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ลูกอาจอยากเข้าไปในห้องน้ำกับคุณทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน และไม่ยอมแยกจากคุณเลย นอกจากนี้ลูกอาจมีรูปแบบการนอนแปลกไป เช่นงีบน้อยกว่าเดิม หรือตื่นตอนกลางคืนบ่อยขึ้น สำหรับคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนแล้ว การทำความเข้าใจความสำคัญของช่วงเวลานี้จะช่วยให้รู้สึกว่าสถานการณ์ไม่เลวร้ายเกินไปนัก ช่วยให้มีสติมากขึ้นและช่วยเป็นกำลังใจให้ลูกได้ดีขึ้นอีกด้วย
ความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจากคืออะไร
ความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจาก (separation anxiety) เกิดเมื่อเด็กรู้สึกวิตกกังวลที่ต้องแยกจากผู้ดูแลหลัก อาการนี้เกิดจากการเรียนรู้เหตุผลเรื่องการคงอยู่ของวัตถุของเด็ก ประกอบกับเด็กมีความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับผู้ปกครอง ในช่วงนี้เด็กกำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ว่าสิ่งของต่าง ๆ จะยังคงอยู่ถึงแม้เขาจะมองไม่เห็นก็ตาม ดังนั้นเมื่อลูกต้องอยู่ห่างจากคุณ เจ้าตัวน้อยก็อาจติดคุณมากกว่าเดิมเพราะกลัวคุณจะหายไปแล้วไม่กลับมาอีก
ในทางเดียวกัน ความวิตกกังวลเมื่อเจอคนแปลกหน้า เกิดเมื่อเด็กต้องพบคนที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน ความวิตกกังวลกับผู้คนใหม่ ๆ หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ นี้จะสังเกตเห็นได้ชัดในช่วงนี้ เพราะลูกกำลังสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคุณ
วิธีสอนให้ลูกปรับตัวเข้ากับความวิตกกังวลเมื่อต้องแยกจาก
ช่วยเขาเรียนรู้เรื่องการคงอยู่ของวัตถุ: การเล่นที่ได้ผลซึ่งจะช่วยสอนเด็ก ๆ เรื่องการคงอยู่ของวัตถุคือการเล่นจ๊ะเอ๋ การเอาของเล่นชิ้นโปรดของลูกมาแอบ หรือซ่อนตัวคุณเองแล้วโผล่ออกมาซ้ำไปมาจะช่วยสอนลูกว่าถึงเขาจะมองไม่เห็นของชิ้นหนึ่ง แต่ของชิ้นนั้น ๆ ก็ยังคงอยู่และจะไม่หายไปไหน โดยสรุปคือ การเล่นจ๊ะเอ๋จะช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับลูก เขาจะเรียนรู้ว่าเมื่อคุณหายไป คุณก็มักจะกลับมาใหม่
ฝึกทักทายและบ๊ายบาย: การฝึกบ๊ายบายเมื่อคุณจากไป และทักทายด้วยการกอดและยิ้มจะช่วยเตรียมตัวให้ลูกคุ้นเคยกับการอยู่ห่างคุณได้ง่ายขึ้น ลูกจะเชื่อมโยงความรู้สึกดี ๆ เมื่อได้เจอคุณและเมื่อต้องบอกลาจากกัน บอกเหตุผลกับลูกทุกครั้งก่อนที่คุณจะออกไป และบอกกับเขาเสมอว่าคุณจะกลับมา พยายามอย่าแอบหนีออกไปเมื่อลูกเผลอ ถึงแม้การแอบหนีจะทำง่ายกว่าบอกลา แต่จะทำให้ลูกน้อยรู้สึกกลัวที่จะต้องห่างจากคุณมากขึ้นไปอีก เขาจะคิดว่าคุณอาจหายไปเมื่อไรก็ได้ การสร้างความไว้ใจนั้นใช้เวลาและความอดทน แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงเด็กให้เขารู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นใจในตนเอง
หาโอกาสในการพบเจอคนใหม่ ๆ : ควรให้เด็กได้เจอสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ และผู้คนใหม่บ้าง เพื่อให้เขาเข้าใจว่าโลกใบนี้ช่างน่าสนใจและปลอดภัย สนับสนุนลูกได้โดยการอยู่เคียงข้างลูก และพูดปลอบเขาด้วยถ้อยคำ และอากัปกิริยาที่อ่อนโยน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความวิตกกังวลของลูกได้อย่างมาก
การสนับสนุนลูกน้อยในช่วงที่มีความวิตกกังวลเมื่อแยกจาก
วิธีที่เด็กมองโลก และไว้ใจโลกภายนอกจะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ดูแล การช่วยสนับสนุน มีความอดทนในช่วงนี้ที่ลูกกำลังสำรวจโลกภายนอกจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยให้ลูกมีความสัมพันธ์ที่ดีในอนาคตได้
หากลูกน้อยรู้สึกปลอดภัย รู้สึกว่ามีคนเข้าใจเมื่อต้องผ่านช่วงเวลาน่ากลัว ลูกก็มีแนวโน้มที่จะไว้ใจผู้อื่น และเปิดรับความสัมพันธ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หากเด็กโดนบังคับให้เริ่มความสัมพันธ์ใหม่เร็วเกินไป หรือโดนทอดทิ้ง เขาจะรู้สึกว่าต้องป้องกันตัวเองตลอดเวลา ซึ่งทำให้เด็กปิดกั้นตัวเองจากโลกภายนอก ในฐานะผู้ใหญ่ เราควรช่วยให้เด็กได้มีความสามารถที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ซึ่งจะสำคัญต่อลูกเมื่อต้องเปลี่ยนไปใช้ชีวิตที่โรงเรียนเมื่อเขาโตขึ้น
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (1 พฤศจิกายน 2023)