ยาแก้ปวด
สุขภาพของลูก
ยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของลูกน้อยและช่วยลดไข้ได้ ยาแก้ปวดสำหรับเด็กที่ปลอดภัยที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดได้แก่ พาราเซตามอลและไอบูโพรเฟน ไม่ควรให้ลูกกินยาแอสไพรินเด็ดขาด
ยาแก้ปวดสำหรับเด็ก
พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟนเป็นยาสองชนิดที่ให้เด็กทานได้เมื่อเขามีอาการปวดรุนแรง ทั้งนี้เมื่อให้ลูกกินยาใด ๆ ก็ตาม ควรทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต และปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อน
ควรให้เด็กเล็กทานยาอย่างไร
สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ควรให้ทานยาทุกชนิดในรูปแบบน้ำ หากคุณแม่มีแต่ยาเม็ดก็ควรนำไปละลายน้ำก่อน สำหรับเด็กโต คุณแม่สามารถให้ทานยาเม็ดได้และดื่มน้ำตามมาก ๆ
ปริมาณการใช้ยาแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไปตามอายุและน้ำหนักของเด็ก รวมไปถึงประเภทยาและความแรงของยา ให้ชั่งน้ำหนักของลูกน้อย และตรวจสอบปริมาณที่แนะนำเพื่อให้รู้ว่าต้องให้ยาปริมาณเท่าไร ควรให้ลูกทานตามปริมาณที่แนะนำพอดีเท่านั้น
ยาพาราเซตามอลสำหรับเด็ก
คุณแม่สามารถให้ลูกทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดที่รุนแรง หรือเพื่อลดไข้ได้หากลูกมีอายุ 2 เดือนขึ้นไป มีน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม และเกิดเมื่ออายุมากกว่า 37 สัปดาห์ โดยให้ยาตามปริมาณที่แนะนำเท่านั้น
อาการของเด็กที่ได้รับยาพาราเซตามอลมากเกินไปมีดังนี้
- พาราเซตามอลปริมาณมากเกินไปอาจทำลายตับของลูกได้
- ลูกอาจมีอาการป่วย คลื่นไส้ อาเจียน ตาเหลือง ตัวเหลือง ไม่อยากอาหาร มึนงง หรือง่วงอย่างมาก
ยาไอบูโพรเฟนสำหรับเด็ก
คุณสามารถให้ลูกทานไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการปวด และลดไข้ได้หากเขาอายุมากกว่า 3 เดือนและมีน้ำหนักตัว 5 กิโลกรัมขึ้นไป ตรวจสอบปริมาณที่แนะนำให้เหมาะสมกับอายุของลูก สำหรับเด็กโต ไม่ควรให้ยาไอบูโพรเฟนหากเขาเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
ผลข้างเคียงจากไอบูโพรเฟนที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้:
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย หรือท้องผูก
ไม่ควรให้เด็กทานยาแอสไพริน
ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีทานยาแอสไพรินนอกจากจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากแอสไพรินอาจทำให้เกิดอาการตับอักเสบรุนแรงที่เรียกว่าโรคเรย์ซินโดรม
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (22 กรกฎาคม 2021)