ปวดท้องน้อย
อาการคนท้อง
คุณแม่บางคนมีอาการปวดท้องน้อยในระหว่างตั้งครรภ์ บางครั้งก็เรียกว่าปวดกระดูกเชิงกราน (PGP) หรืออาการปวดกระดูกหัวเหน่า (SPD)
อาการปวดกระดูกเชิงกราน
อาการปวดกระดูกเชิงกราน คืออาการปวดที่เกิดจากการแข็งตัวของข้อต่ออุ้งเชิงกราน หรือข้อต่อที่เคลื่อนไหวไม่สม่ำเสมอทั้งด้านหลัง หรือด้านหน้าของกระดูกเชิงกราน
อาการปวดกระดูกเชิงกรานไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่อาจมีอาการปวดอย่างรุนแรง และทำให้คุณแม่มีความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันได้
ในคุณแม่แต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกัน และความเจ็บปวดของคุณแม่บางคนก็อาจรุนแรงกว่าคุณแม่คนอื่นๆ
อาการอาจรวมถึง:
- ปวดกระดูกหัวหน่าวที่ด้านหน้าตรงกลาง
- ปวดหลังช่วงล่าง ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง
- ปวดบริเวณระหว่างช่องคลอดกับทวารหนัก
- ขยับ หรือแยกขาออกจากกันยากขึ้น
สำหรับคุณแม่บางคนความเจ็บปวดยังอาจสามารถแผ่ไปถึงต้นขา และอาจได้ยินเสียงคลิ๊ก หรือรู้สึกขัด ๆ ในบริเวณอุ้งเชิงกราน อาการปวดอาจสังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดเวลาคุณแม่เดิน ขึ้นบันได หรือขณะพลิกตัวอยู่บนเตียง
ใครมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดกระดูกเชิงกรานขณะตั้งครรภ์?
จากการประเมินพบว่า 1 ใน 5 ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการปวดกระดูกเชิงกราน (PGP)
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมความเจ็บปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานจึงส่งผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์เพียงบางคนเท่านั้น มีการคาดการณ์ว่าอาจเชื่อมโยงกับปัญหาหลายประการ เช่น ความเสียหายที่เคยเกิดขึ้นกับกระดูกเชิงกราน ข้อต่ออุ้งเชิงกรานที่มีการเคลื่อนไหวไม่สม่ำเสมอ น้ำหนัก หรือตำแหน่งของทารกในครรภ์
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
การได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สามารถช่วยรักษาอาการปวดให้เหลือน้อยที่สุดได้ การรักษามักจะทำโดยการขยับข้อต่อที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยให้ข้อต่อนั้นทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง
หากคุณแม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน ควรแจ้งกับคุณหมอโดยตรง ปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะไม่หายขาดจนกระทั่งคลอด แต่การรักษาจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้
วิธีการรักษาอาการปวดกระดูกเชิงกรานขณะตั้งครรภ์
การทำกายภาพบำบัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการปวด ปรับปรุงการทำงานของกล้ามเนื้อ และช่วยให้ข้อต่ออุ้งเชิงกรานอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งอาจรวมถึง:
- บำบัดเพื่อช่วยให้ข้อต่อของกระดูกเชิงกราน สะโพก และกระดูกสันหลังสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หน้าท้อง หลังและกล้ามเนื้อสะโพก
- ออกกำลังกายในน้ำ
- ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ไม้ค้ำ หรือเข็มขัดพยุงกระดูกเชิงกราน
- การบรรเทาอาการปวด
วิธีรับมือกับอาการปวดกระดูกเชิงกรานขณะตั้งครรภ์
นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำให้ใช้เข็มขัดพยุงกระดูกเชิงกราน เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวด หรือใช้ไม้ค้ำเพื่อช่วยให้คุณแม่เดินไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น คุณหมอบางท่านยังอาจให้คำแนะนำต่อไปนี้:
- พยายามขยับเขยื้อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้อาการปวดแย่ลง
- สวมรองเท้าที่แบนและรองรับแรงกระแทกได้ดี
- พยายามหนีบหัวเข่าเข้าด้วยกัน ขณะเข้าและออกจากรถ
- นอนในท่าที่สบาย เช่น นอนตะแคงโดยมีหมอนรองระหว่างขา
- พยายามหาวิธีพลิกตัวขณะอยู่บนเตียงด้วยวิธีต่าง ๆ กัน เช่นการใช้เข่าทั้ง 2 ข้าง และกระเถิบก้น
- ก้าวขึ้นบันไดทีละก้าว หรือใช้วิธีถอยหลังขึ้นบันไดแทน
- หลีกเลี่ยงการยืนบนขาข้างเดียวขณะแต่งตัว
- หลีกเลี่ยงการอุ้มทารกไว้บนสะโพกข้างเดียว
- หลีกเลี่ยงการไขว้ขา
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
การคลอดขณะที่มีอาการปวดกระดูกเชิงกราน
คุณแม่หลายคนที่มีอาการปวดกระดูกเชิงกรานในขณะตั้งครรภ์ สามารถคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติได้ แต่ควรมีการวางแผนล่วงหน้า และพูดคุยเกี่ยวกับแผนการคลอดบุตรกับคุณพ่อหรือคุณหมอไว้ก่อน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (3 กุมภาพันธ์ 2020)