ดาวน์โหลดแอป

พัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกในท้องช่วงตั้งครรภ์

ทฤษฎีการเลี้ยงลูก

พัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกในท้องช่วงตั้งครรภ์
พัฒนาการและการเรียนรู้ของลูกในท้องช่วงตั้งครรภ์

การตั้งครรภ์นั้นเป็นประสบการณ์ที่วิเศษสำหรับคุณแม่หลาย ๆ คน และนี่คือพัฒนาการในแต่ละเดือนจากมุมมองของลูกน้อยในครรภ์

ทุกอย่างเริ่มมาจากวันที่ไข่ของแม่พบกับอสุจิของพ่อ และอีก 4 อาทิตย์ถัดมาสมองเล็ก ๆ ก็จะเริ่มก่อตัวขึ้น นักระบาดวิทยา David Barker กล่าวว่าในขณะที่เราเติบโตอยู่ในท้องนั้น เราจะได้รับ ‘จดหมาย’ จากโลกภายนอกอยู่เสมอ จดหมายนำข่าวสารจากโลกภายนอกมาบอกเราว่าข้างนอกนั้นจะอันตรายหรือปลอดภัย ผ่านทางอาหารที่ได้รับจากแม่มาว่ามีเยอะหรือขาดแคลน มาดูกันว่าในมุมมองของเด็กอ่อนนั้นเราจะพบเจอและเรียนรู้อะไรได้บ้างระหว่างที่อยู่ในครรภ์

เดือนที่ 1 (ไตรมาสที่ 1)
เมื่ออายุได้เพียง 24 ชั่วโมง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นข้อมูลทางพันธุกรรมนั้นได้ปรากฏอยู่ในเซลล์เซลล์เดียวเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่สีของเส้นผมถึงความสามารถพิเศษในการเป็นนักเปียโนในอนาคต หลังจากนั้นพวกเราก็จะแบ่งตัวออกไปเรื่อย ๆ และอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เราก็จะเดินทางออกจากรังไขไปยังมดลูก ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราจะแบ่งตัวออกเป็นสองส่วน ครึ่งหนึ่งก็คือส่วนที่จะกลายมาเป็นตัวของเรา และอีกครึ่งที่จะกลายเป็นรกที่คอยให้อาหาร ให้ออกซิเจน และกำจัดของเสียให้กับเรา ภายในสัปดาห์ที่ 4 เราจะเริ่มพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนตัวเล็ก ๆ ที่จะเติบโตในอัตรา 1 ล้านเซลล์ต่อวินาที ไขสันหลัง สมอง และหัวใจของเราจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนแล้วทั้ง ๆ ที่ขนาดตัวของเรานั้นเท่ากับเมล็ดงาเท่านั้น

เดือนที่ 2 (ไตรมาสที่ 1)
เมื่ออายุได้ราว 4 – 5 สัปดาห์ หัวใจของเราก็เริ่มเต้น และตอนนี้เราก็มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตอนปฏิสนธิถึง 10,000 เท่า ตอนนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทเพราะสมองของเรากำลังเติบโตในอัตรา 100,000 เซลล์ต่อนาที หากแม่ของเราดื่มแอลกอฮอลล์หรือใช้ยาเสพติด เครียดหนัก หรือได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง สมองของเราก็จะได้รับความเสียหายไปด้วย มันอาจจะมีผลต่อการเรียนคณิตศาสตร์ในโรงเรียน หรืออาจจะกลายเป็นโรคจิตเภทในอีก 40 ปีข้างหน้าก็ได้ หากแม่ของเราสุขภาพแข็งแรงและผ่อนคลาย สมองของเราก็จะพัฒนาได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตอนนี้ขนาดตัวของเราเท่ากับลูกมะยมแล้ว

เดือนที่ 3 (ไตรมาสที่ 1)
ในต้นเดือนที่ 3 นั้นเราจะเริ่มมีปฏิกิริยาต่อสิ่งกระตุ้นแล้ว ประสาทการได้กลิ่นจะเริ่มพัฒนาและกลิ่นของสารพิษก็อาจทำให้เราไม่ชอบได้ สมองยังคงเติบโตอย่างรวดเร็ว หูเล็ก ๆ จะเริ่มปรากฏและไม่นานนักก็จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจเต้นและเสียงพูดคุยของแม่แล้ว เพราะตัวยังเล็กอยู่เราจึงมีพื้นที่ในการขยับตัวไปมาในท้องได้เยอะ ครรภ์ของแม่กลายเป็นสนามเด็กเล่นสำหรับการทดลองประสาทสัมผัส เราเรียนรู้ที่จะขยับแขน เหยียดนิ้วมือ ยิ้ม หรือเริ่มดูดนิ้ว ตอนนี้ประมาณ 75% ของพวกเราเริ่มแสดงความถนัดในการใช้มือขวาแล้ว และตอนนี้ขนาดตัวของเราเท่ากับลูกเลม่อน

เดือนที่ 4 (ไตรมาสที่ 2)
หัวของเรานั้นมีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดทั้งหมด เราเรียนรู้ที่จะถีบ ฉี่ และหัดกลืน ต่อมรับรสของเราเริ่มพัฒนา และหากแม่ของพวกเราทานอาหารที่หลากหลายเราก็จะเรียนรู้ที่จะชื่นชมรสชาติต่าง ๆ และลดแน้วโน้มในการเป็นคนที่เลือกกินในอนาคต หากเราไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เราจะปรับสรีระร่างกายตามเพื่อรักษาพัฒนาการของเรา กระบวนการนี้เรียกว่าการปรับตัวของทารก นักวิจัยบางคนค้นพบว่ามันอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพในภายหลังได้ เช่นโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน ตอนนี้พวกเรามีขนาดประมาณเท่าลูกมะเขือเทศ

เดือนที่ 5 (ไตรมาสที่ 2)
ตอนแรกเสียงของแม่เราอาจจะฟังอู้อี้ แต่ตอนนี้มันเริ่มชัดขึ้นแล้ว เรากำลังจะเริ่มเติบโตอย่างรวดเร็ว เราจะเริ่มมีฟันซี่แรก ผมเส้นแรก เล็บมือ ขนคิ้ว และขนตา เราเริ่มขยับตัวมากขึ้นระหว่างวันและกำลังมีความสุขกับการหัดเบ่งกล้ามเนื้อน้อย ๆ ในระหว่างที่เรากำลังดิ้น พลิกตัว ยืดแขนยืดขา คุณแม่ก็จะเริ่มรู้สึกได้แล้ว หากแม่ตอบสนองการขยับตัวของเรา เราก็จะเรียนรู้ว่าทุกการกระทำย่อมมีปฏิกิริยา และตอนนี้เราตัวเท่าผลแก้วมังกรแล้ว

เดือนที่ 6 (ไตรมาสที่ 2)
ระหว่างเดือนที่ 6 เป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการพัฒนาของสมอง เปลือกสมองของเราจะแบ่งออกเป็นสองซีก แต่อีกอย่างที่น่าตื่นเต้นก็คือตาทั้งสองข้างของเราจะเปิดเป็นครั้งแรก แม้จะยังมองเห็นเป็นภาพมัว ๆ แต่เราก็เริ่มตอบสนองต่อแสงได้แล้ว บางคนจะบอกว่าตอนนี้คือเวลาที่คุณแม่ต้องออกไปพบเจอแสงแดดให้มากขึ้น ตอนนี้เราจะเริ่มทำหน้าทำตาได้มากขึ้นแล้ว เช่นการ ‘ยิ้ม’ เราอาจจะเรียนรู้ที่จะสื่อสารได้ตั้งแต่เกิดผ่านทางการแสดงออกทางอารมณ์ และตอนนี้เราตัวเท่าดอกกะหล่ำหัวเล็ก ๆ แล้ว

เดือนที่ 7 (ไตรมาสที่ 3)
เราเริ่มมีตารางการตื่นและการนอนที่เป็นเวลา  เส้นผมบนศีรษะเริ่มเห็นชัดขึ้น และได้มีฟันน้ำนมในเหงือกแล้ว เมื่อเราได้ยินเสียงแม่พูดเราก็อาจจะหัวใจเต้นเร็วขึ้น และตอบโต้โดยการขยับตัวไปมา บางบทวิจัยกล่าวว่าเราเริ่มเรียนภาษาแล้วจากเสียงที่ได้ยินจากข้างนอก เพราะตอนที่เราเกิดมาแล้ว ทารกก็มักจะเลือกฟังภาษาของพ่อแม่ และหากมีความจำเป็นจะต้องเกิดตอนนี้เราจะมีเปอร์เซ็นต์การรอดอยู่ที่ 90% โดยตอนนี้ เรามีขนาดตัวเท่ากับสัปปะรด

เดือนที่ 8 (ไตรมาสที่ 3)
ตอนนี้เราเริ่มทำตัวเหมือนเด็กแรกเกิดแล้ว สมองของเราทำงานได้ดีและระบบประสาทพร้อมแล้ว ปอดของเราพัฒนาเกือบสมบูรณ์และกำลังฝึกหายใจด้วยการสูดน้ำคร่ำ ตอนนี้เราใช้เวลาเกือบทั้งหมดไปกับการนอนและพวกเราส่วนมากก็เริ่มกลับหัวแล้ว กระดูกและกะโหลกของเรายังไม่แข็ง เพื่อที่จะได้เดินทางผ่านออกมาจากประตูเล็ก ๆ สู่โลกภายนอกได้ มีเพียงแค่ระบบภูมิคุ้มกันเท่านั้นที่ยังคงไม่พัฒนาเต็มที่ มันจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนหลังคลอดกว่าที่องครักษ์ภายในของเราจะปกป้องพวกเราได้อย่างเต็มที่ และตอนนี้เราตัวเท่าลูกเมล่อนแล้ว

เดือนที่ 9 (ไตรมาสที่ 3)
ในเดือนสุดท้ายนี้เรายังคงฝึกฝนทักษะการเคลื่อนไหวและการถีบต่อไป เมื่อไหร่ที่แม่ของเราหัวเราะ กินของหวาน ๆ หรือดื่มชาเย็น เราก็จะตอบรับโดยการดิ้นไปมา หากเราสามารถเข้าใจรายงานวิจัยได้เราคงหวังว่าแม่จะเลือกให้เราได้ลืมตาดูโลกผ่านการคลอดแบบธรรมชาติ เพราะจะทำให้ภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรง ปริศนาของความแตกต่างระหว่าง การเลี้ยงดู และ พันธุกรรม สิ่งไหนจะส่งผลต่อพัฒนาการของเรามากกว่ากัน ซึ่งแค่ตอนนี้เราก็คงจะเห็นได้ซักหน่อยแล้ว ว่าส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด คือเป็นช่วงวัยเด็กของเรา สิ้นเดือนที่ 9 ขนาดตัวของเราจะเท่ากับลูกขนุน

พวกเราจะได้ออกมาเจอโลกภายนอกแล้วหลังจากที่คุณแม่พยายามเบ่งเราออกมา พวกเราบางคนอาจจะถูกพาไปจากอกแม่เพื่อรับการตรวจต่าง ๆ และทำความสะอาด แต่หากเราโชคดีเราก็จะได้ใช้ช่วงเวลาแรกเริ่มของชีวิตอยู่กับแม่ หากได้ถูกวางบนอก เราก็จะคลานไปที่เต้านมได้โดยสัญชาตญานเพื่อฝึกดูดนม เพราะมันทำให้เรารู้สึกอิ่ม มีความสุข และปลอดภัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในอนาคต

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน