เวลาหน้าจอ
สุขภาพของลูก
การปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นโทรศัพท์ อาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจและปัญหาทางสุขภาพที่รุนแรงได้ในภายหลังของชีวิต
เด็ก ๆ ควรลุกขึ้นมาขยับตัวและเล่น
การให้ลูกเล่นโทรศัพท์ของคุณแม่ หรือดูวิดีโอมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่รุนแรงในภายหลังได้ แทนที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ เด็กเล็ก ๆ ต้องการการสบตา มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และการเล่นมากๆ !
ทำไมเด็กเล็กจึงไม่ควรใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ
วัยเด็กเป็นช่วงเวลาของการพัฒนาสมองอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาษา พฤติกรรม และนิสัยที่สำคัญของเขาสำหรับตลอดทั้งชีวิตกำลังจะถูกสร้างขึ้น องค์การอนามัยโลกให้คำแนะนำว่าทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีไม่ควรสัมผัสกับหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่ว่าจะใช้วิดีโอคอลกับครอบครัวเท่านั้น และถึงแม้ว่าเขาจะโตขึ้นแล้ว คุณแม่ก็ควรจำกัดเวลาของหน้าจอไว้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวันจนถึงอายุ 5 ขวบ เพราะเด็ก ๆ ควรต้องได้ใช้เวลาพูดคุยกับพ่อแม่ หรือเล่นในโลกแห่งความจริง
แพทย์สนับสนุนการจำกัดการใช้หน้าจออย่างเข้มงวด
แนวทางของสถาบันกุมารเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาแนะนำดังต่อไปนี้:
- เด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการใช้สื่อหน้าจออื่น ๆ นอกเหนือจากการสื่อสารด้วยวิดีโอคอล
- เด็กอายุ 18 – 24 เดือน คุณแม่ควรเลือกรายการสำหรับเด็กที่มีคุณภาพสูง และนั่งดูด้วยกันกับลูก เพื่อช่วยแนะนำให้พวกเขาเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาได้รับชม
- เด็กอายุ 2 – 5 ปี ให้จำกัดการใช้งานหน้าจอเพียง 1 ชั่วโมงต่อวันโดยเลือกรายการสำหรับเด็กที่มีคุณภาพสูง ผู้ปกครองควรดูกับลูก เพื่อช่วยแนะนำให้พวกเขาเข้าใจสิ่งที่ได้รับชม และนำไปปรับใช้กับสิ่งรอบตัว
ผลกระทบด้านลบของเวลาหน้าจอ
ระยะเวลาที่ใช้บนหน้าจอนั้น เชื่อมโยงกับผลลัพธ์ด้านลบจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง:
น้ำหนัก: เด็ก ๆ ที่ใช้เวลามาก ๆ ไปกับการใช้หน้าจออาจไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ นำไปสู่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เด็ก ๆ ที่อยู่หน้าจอมักจะรับประทานอาหารโดยไม่ระวังปริมาณอาหารที่รับประทาน พวกเขาอาจได้รับอิทธิพลจากโฆษณาอาหารขยะ และมีแนวโน้มที่จะหาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมารับประทาน
ปัญหาด้านจิตใจ: เด็ก ๆ ที่ใช้เวลาบนหน้าจอเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า หรือวิตกกังวลมากกว่าเด็กที่จำกัดการใช้เวลาหน้าจอถึง 2 เท่า ปัญหาการนอนหลับหรือปัญหาน้ำหนักเกินนั้นอาจแก้ไขได้ไม่ยากนัก แต่ปัญหาทางจิตเป็นเรื่องยากมากที่จะรักษาในภายหลังของชีวิต
ความสามารถในการสื่อสาร: การใช้หน้าจอสามารถแยกเด็กออกจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวของพวกเขา และพวกเขาอาจพลาดการมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันซึ่งจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อพวกเขาและครอบครัวได้ เมื่อเด็กมองเข้าไปในหน้าจอ แทนที่จะมีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้น พวกเขากลับไม่ได้พัฒนาทักษะทางการสื่อสารที่สำคัญเลย
การนอน: หากมีการใช้หน้าจอในตอนเย็นหรือก่อนนอน แสงที่เปล่งออกมาจากหน้าจออาจทำให้เด็กนอนไม่หลับ และอาจทำให้ชั่วโมงการนอนของเด็กลดลงจากที่ควรได้ การนอนน้อยอาจทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และมีปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม
ปัญหาคอ หลัง และท่าทาง: เมื่อเด็กจ้องมองหน้าจอ พวกเขามักจะปล่อยร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปอาจนำไปสู่อาการปวดคอและหลังได้ หากพวกเขาใช้เวลาอยู่กับหน้าจอหลายชั่วโมงทุก ๆ วัน ท่าทางตามปกติของพวกเขาก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย
การได้รับข้อมูลที่เป็นอันตราย: มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็ก ๆ ได้ดูรายการที่มีเนื้อหารุนแรง พวกเขามีแนวโน้มที่จะมองโลกว่าเป็นที่ที่น่ากลัวและโหดร้าย นอกจากนี้ เด็ก ๆ ยังมีแนวโน้มที่จะแสดงความก้าวร้าวมากขึ้น เมื่อพวกเขาเข้าใจว่าสิ่งที่ได้รับชมนั้นเป็นพฤติกรรมที่ “ปกติ”
สุขภาพตา: เด็กที่ชอบใช้เวลาทำกิจกรรมนอกบ้านมีโอกาสที่จะสายตาสั้นน้อยกว่า เพราะเมื่อเด็กจ้องที่หน้าจอเป็นเวลานาน พวกเขาอาจกระพริบตาน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้ดวงตาแห้ง และสิ่งนี้สามารถนำไปสู่อาการตาล้าได้
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (10 กุมภาพันธ์ 2020)