ขนมหวานและน้ำผลไม้
สุขภาพของลูก
เด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แต่น่าเสียดายที่ผลิตภัณฑ์นมและน้ำผลไม้ส่วนใหญ่มักมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่มาก
น้ำตาลไม่เหมือนกันทั้งหมด
น้ำตาลมีหลายประเภท ตัวอย่างเช่น ซูโครส กลูโคส ฟรุกโตส และแลคโตส น้ำตาลเหล่านี้พบได้ตามธรรมชาติในผัก ผลไม้ ผลิตภัณฑ์จากนมและธัญพืชต่าง ๆ และไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงน้ำตาลที่มีอยู่ตามธรรมชาติในอาหารทั้งหมด เพราะอาหารเหล่านี้ยังมีสารอาหาร ใยอาหาร และน้ำซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบด้านลบต่าง ๆ ของน้ำตาลได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเติมน้ำตาล เช่น ซูโครส หรือฟรุกโตสเพิ่มลงไปในน้ำผลไม้ หรืออาหารแปรรูปอื่น ๆ นั่นจะทำให้มีผลข้างเคียงด้านลบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของลูกในอนาคต
เด็ก ๆ จำเป็นต้องได้รับน้ำตาลหรือไม่?
โภชนาการที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเด็ก พวกเขาต้องการแป้ง คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาลในปริมาณที่เพียงพอเพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงขวบปีแรก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพแนะนำว่าเด็กเล็กไม่ควรบริโภคน้ำตาลซูโครส เพราะความชอบรสหวานนั้นเป็นธรรมชาติของเด็ก ๆ แต่ทำให้มีผลข้างเคียงด้านลบต่อพวกเขา
ผลกระทบของการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป
ในนม โยเกิร์ต และน้ำผลไม้ มักมีซูโครสและน้ำตาลชนิดอื่น ๆ เป็นส่วนประกอบ การบริโภคน้ำตาลซูโครสมากเกินไปอาจทำให้ลูกมีปัญหาน้ำหนักเกินในระยะยาว มีอาการไฮเปอร์ และทำให้ติดรสหวานได้ อาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหารุนแรง เช่น:
- ฟันผุ จากการดูแลช่องปากที่ไม่เหมาะสม
- ความเสี่ยงเป็นโรคอ้วน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวานประเภท 2 และปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ
- ปัญหาด้านพฤติกรรม เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราดบ่อย และไม่หยุดรบกวนคนรอบข้าง
- ติดรสหวาน
วิธีช่วยให้ลูกรับประทานน้ำตาลที่ดีต่อสุขภาพ
อาจเป็นไปได้ยากที่จะหลีกเลี่ยงน้ำตาลที่อยู่ในอาหารต่าง ๆ ได้โดยสิ้นเชิง แต่คุณแม่อาจเลือกสิ่งอื่นที่ดีต่อสุขภาพทดแทนได้ เช่น กล้วย น้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทรายแดง ซึ่งหาได้ไม่ยาก
ทางเลือกอื่นที่ดีสำหรับเครื่องดื่มรสหวาน
ในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ และนมผงสำหรับเด็ก มักจะมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงเป็นการดีกว่าที่จะให้ลูกดื่มนมแม่ และน้ำเปล่า นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถป้อนน้ำผลไม้เจือจาง (น้ำผลไม้ 1 ส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน) ให้ลูกดื่มพร้อมมื้ออาหารได้ เนื่องจากการให้ดื่มพร้อมกับมื้ออาหารจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุลงได้
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (7 มีนาคม 2020)