อันตรายจากแสงแดด
สุขภาพของลูก
ทารกแรกเกิดมีผิวหนังที่บาง และเม็ดสีเมลานินก็ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นผิวของพวกเขาจึงไหม้ได้ง่าย การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากแสงแดดมากเกินไป อาจทำให้ผิวหนัง ดวงตา หรือระบบภูมิคุ้มกันถูกทำลาย และอาจเกิดมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้ การถูกแดดเผายังสามารถทำให้เกิดอาการปวดและรู้สึกไม่สบายได้ในระยะสั้นอีกด้วย
วิธีปกป้องเด็ก ๆ ให้ปลอดภัยจากแสงแดด
อยู่ในที่ร่ม: พยายามให้เด็ก ๆ เล่นในที่ร่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 10:00 – 16:00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่แสงแดดแรงที่สุด เด็กที่เล่นอยู่ในน้ำ และทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
ใช้ครีมกันแดด: ทาครีมกันแดดให้กับลูกน้อยในบริเวณที่ไม่ได้รับการปกป้องจากเสื้อผ้า เช่นใบหน้า ใบหู เท้า และหลังมือ แม้ในวันที่มีเมฆมากหรือท้องฟ้าครึ้ม ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 หรือสูงกว่าและป้องกันได้ทั้ง UVA และ UVB หากจะลงว่ายน้ำให้ใช้ครีมกันแดดที่กันน้ำได้ และมีค่า SPF15 หรือสูงกว่าเช่นกัน แต่ห้ามใช้ครีมกันแดดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน
สวมเสื้อผ้ามิดชิด: ปกป้องลูกน้อยด้วยเสื้อผ้าฝ้ายหลวม ๆ เช่น เสื้อยืดขนาดใหญ่ที่มีแขนยาว ควรเพิ่มการป้องกันเป็นพิเศษเมื่อลูกน้อยจะลงเล่นน้ำ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าแดดร้อนจะเป็นอันตรายต่อพวกเขาได้
สวมแว่นกันแดด: ปกป้องดวงตาของลูกน้อยด้วยแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสี UV ได้ 100%
เมื่อถูกแดดเผาอาการเป็นอย่างไร?
- มีอาการเจ็บ แสบร้อน ที่ผิวบริเวณที่ถูกแดดเผา ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป
- ผิวหนังอาจแห้ง คัน และรู้สึกตึงๆ
- ผิวบริเวณที่ถูกแดดเผาจะเริ่มลอกออกประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น
- สำหรับบางคนอาจรู้สึกหนาว หรือไม่สบายได้
วิธีบรรเทาอาการผิวไหม้
- ให้ลูกน้อยอาบน้ำเย็น ๆ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบผิวเบา ๆ เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บ และแสบร้อน
- พยายามอย่าให้ลูกเกาหรือแกะผิวที่หลุดลอกออก เพราะผิวที่อยู่ภายใต้การถูกแดดเผานั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
- ทาเจลว่านหางจระเข้ หรือครีมที่ให้ความชุ่มชื้น เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้กับผิวและบรรเทาอาการคัน
- ลองปรึกษากับคุณหมอ คุณหมออาจอนุญาตให้ใช้ยาต้านการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด และอาการคัน ยากลุ่มไดเฟนไฮดรามีน อาจช่วยได้เช่นกัน
- พยายามอย่าให้ลูกน้อยโดนแดดอีก จนกว่าอาการผิวไหม้จะหายเป็นปกติ
สิ่งที่ไม่ควรทำ:
- อย่าใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเนื่องจากจะทำให้ความร้อนและเหงื่อไม่สามารถระบายออกมาได้
- อย่าให้ลูกรับประทานยาแอสไพริน
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ปฐมพยาบาลที่มีส่วนผสมของเบนโซเคน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังได้
- ห้ามใช้ครีมกันแดดในเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
หากถูกแดดเผารุนแรงและเกิดแผลพุพอง ควรปรึกษาคุณหมอ อย่าให้ลูกน้อยเกา แกะ หรือบีบแผลพุพอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและเกิดแผลเป็นได้
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (10 กุมภาพันธ์ 2020)