การอุ้มบุญ (Surrogacy)
การตั้งครรภ์
การอุ้มบุญ (Surrogacy) เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหญิงตกลงตั้งครรภ์แทนผู้อื่น โดยมักมีขั้นตอนทางการแพทย์ และขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อน ในบางประเทศถือว่าการอุ้มบุญเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
เหตุผลในการอุ้มบุญ
คุณพ่อคุณแม่อาจพิจารณาวิธีนี้หากไม่สามารถมีลูกด้วยตนเองได้ แต่อยากได้ทายาทที่สืบสายเลือดโดยตรง พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันก็อาจมีลูกโดยใช้วิธีนี้ได้ (ในต่างประเทศ)
ประเภทของการอุ้มบุญ
การอุ้มบุญมี 2 ประเภทดังนี้
- การอุ้มบุญแท้ (Traditional surrogacy) : วิธีนี้จะใช้วิธี IUI หรือ IVF ในการผสมอสุจิของคุณพ่อกับไข่ของแม่อุ้มบุญ จากนั้นแม่ที่อุ้มบุญก็จะตั้งครรภ์ การอุ้มบุญประเภทนี้ลูกที่เกิดมาจะมีพันธุกรรมจากพ่อครึ่งหนึ่ง และจากแม่อุ้มบุญอีกครึ่งหนึ่ง ในประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยการอุ้มบุญไม่อนุญาตให้แม่อุ้มบุญใช้ไข่ของตนเองในการตั้งครรภ์
- การอุ้มบุญเทียม (Gestational surrogacy) : การอุ้มบุญเทียมจะใช้อสุจิจากคุณพ่อและไข่จากคุณแม่ นำมาผสมกันนอกร่างกายโดยใช้วิธี IVF หรือ ICSI ช่วย จากนั้นตัวอ่อนหนึ่งตัวหรือมากกว่าจะถูกนำไปใส่ในมดลูกของแม่อุ้มบุญ จากวิธีนี้ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ก็จะได้เป็นพ่อแม่ทางสายเลือดกับลูก โดยคุณแม่อุ้มบุญมีหน้าที่ตั้งครรภ์แทนแต่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับทารกแต่อย่างใด
ปัจจุบันการอุ้มบุญที่ถูกกฎหมายในไทยทำได้เฉพาะกรณี gestational surrogacy หรืออุ้มบุญเทียมเท่านั้น
สิ่งที่ควรพิจารณา
ก่อนที่จะเลือกใช้วิธีการอุ้มบุญ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษารายละเอียดกับผู้เชี่ยวชาญ และทนายผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอุ้มบุญก่อน เพื่อให้เข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนของการอุ้มบุญ รวมไปถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ความสัมพันธ์กับคุณแม่อุ้มบุญ
การเลือกคุณแม่อุ้มบุญควรเป็นกระบวนการที่ผ่านการไตร่ตรองอย่างดี ซึ่งทั้งพ่อแม่โดยสายเลือด แม่อุ้มบุญ ทนาย และผู้เชี่ยวชาญควรมีส่วนร่วมให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจด้วย เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์จะเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทั้งคุณพ่อคุณแม่และแม่อุ้มบุญควรทำข้อตกลงและลงชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของทนายและผู้เชี่ยวชาญด้านการอุ้มบุญ เพื่อที่ว่าสถานการณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอด หรือการดูแลหลังคลอดนั้น ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้วิธีการรับมือ และจัดการปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
สุขภาพกาย และสุขภาพจิต
คุณแม่อุ้มบุญควรได้รับการคัดกรองในการตรวจโรคและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่อาจเป็นปัญหาต่อการตั้งครรภ์ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาเรื่องความคาดหวังต่าง ๆ ต่อการใช้ชีวิต และการทานอาหารของคุณแม่อุ้มบุญตลอดช่วงเวลาการตั้งครรภ์
นอกจากนี้ควรพิจารณาให้คุณแม่อุ้มบุญมีสิทธิ์รับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และการสนับสนุนทางจิตใจ สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังคลอด เช่น การให้นมลูก เพื่อให้ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองหลังจากทารกเกิดมาดูโลกแล้ว
การจัดการเรื่องค่าใช้จ่าย
ทุกคนที่มีส่วนร่วมควรรับทราบว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่การฝากครรภ์ การพบแพทย์ วิตามินบำรุงครรภ์ ค่าเสื้อผ้าสำหรับหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการทำคลอด การนอนโรงพยาบาล และการดูแลหลังคลอดก็สำคัญเช่นกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กที่เกิดมาจะได้รับการดูแลเพียงพอต่อพัฒนาการที่สมบูรณ์จากทุกฝ่าย
ความเสี่ยง
เนื่องจากการอุ้มบุญเป็นเรื่องซับซ้อน จึงมีความเสี่ยงหลายประการที่ควรรู้
- ปัญหาทางกฎหมาย: ปัญหาทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการอุ้มบุญอาจเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการเป็นพ่อแม่ ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎหมายและข้อบังคับในการอุ้มบุญที่แตกต่างกัน บางประเทศก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้นควรปรึกษาทนายในเขตพื้นที่ที่จะให้คุณแม่อุ้มบุญตั้งครรภ์และคลอดบุตรก่อน ยิ่งไปกว่านั้นยังอาจเกิดปัญหาทางกฎหมายในระยะยาว เช่นการต่อสู้เพื่อแย่งสิทธิ์ในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น ปัญหานั้นจะซับซ้อนยิ่งขึ้นหากไม่ได้มีการจัดการตั้งแต่แรกเริ่ม
- ปัญหาด้านสุขภาพ: การพึ่งพาให้คนอื่นตั้งครรภ์แทนนั้นเพิ่มความเสี่ยงหลายด้าน เช่น สุขภาพของแม่อุ้มบุญ และลักษณะการใช้ชีวิตในช่วงตั้งครรภ์มีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการคลอดก็ไม่สามารถคาดเดาได้ และขึ้นอยู่กับร่างกายของคุณแม่อุ้มบุญด้วย
ข้อดี
- การสืบสายเลือด: การอุ้มบุญจะช่วยให้ผู้หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับมดลูก หรือการตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิต สามารถเป็นแม่โดยสายเลือดของลูกได้ ส่วนคู่รักเพศชาย หรือคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันที่อยากมีลูกโดยสืบสายเลือดก็สามารถใช้วิธีนี้ได้
- อัตราสำเร็จสูง: เนื่องจากการคัดกรองคุณแม่อุ้มบุญเป็นไปอย่างเข้มงวด คุณแม่อุ้มบุญจึงมักจะมีสุขภาพที่ดี การอุ้มบุญจึงมีโอกาสตั้งครรภ์ และคลอดสำเร็จสูง จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พยายามมีลูกมานาน และใช้วิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (10 ธันวาคม 2021)