แผลไหม้พุพองจากความร้อน
วิธีปฐมพยาบาลเด็ก
แผลไหม้พุพองที่เกิดจากไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก สามารถทำลายผิวหนังได้ วิธีการรักษาแผลทั้ง 2 ชนิดนั้นเหมือนกัน
แผลไหม้อาจเกิดจากความร้อนจากสิ่งของที่แห้ง เช่น เตารีด แผลพุพองเกิดจากของเหลวร้อน หรือไอน้ำ เช่น น้ำเดือด
อาการของแผลไหม้พุพอง
ความเจ็บปวดที่ลูกรู้สึกอาจไม่สามารถบอกได้ถึงความรุนแรงของแผลไหม้พุพองได้ บางครั้งแผลไหม้รุนแรงอาจไม่เจ็บปวด แต่แผลไหม้พุพองส่วนใหญ่อาจสร้างความเจ็บปวดมากและอาจทำให้มีอาการดังต่อไปนี้:
- ผิวเปลี่ยนเป็นสีแดง
- ผิวหนังลอก
- มีตุ่มพอง
- บวม
- ผิวหนังขาวซีดหรือไหม้เกรียมบริเวณที่โดนความร้อน
วิธีรักษาแผลไหม้พุพอง
นี่คือบางสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้ทันทีเพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นหลังจากเกิดแผลไหม้พุพอง:
- นำเด็กออกห่างจากความร้อนทันที
- ลดอุณหภูมิของแผลไหม้ลงโดยการประคบด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 20 นาที อย่าใช้น้ำแข็ง น้ำเย็นจัด ครีมใด ๆ หรืออะไรก็ตามที่มีความมันลื่น เช่น เนย ยาสีฟัน หรือบัวหิมะ ทาที่แผลโดยตรง
- ถอดเสื้อผ้าบริเวณที่อยู่ใกล้กับแผลออก รวมถึงผ้าอ้อมของทารก แต่อย่าพยายามดึงสิ่งที่ติดอยู่กับผิวหนังออก
- พยายามไม่ให้สัมผัสโดนบริเวณที่เป็นแผล
- คลุมแผลด้วยผ้าก๊อชที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือฟิล์มใสสำหรับห่ออาหาร
- หากแผลอยู่บริเวณใบหน้า พยายามให้ลูกนั่งให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้แทนการนอน วิธีนี้จะช่วยลดอาการบวมได้
- คุณแม่สามารถให้ลูกรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดได้
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
คุณแม่สามารถรักษาแผลไหม้เล็กน้อยได้เองที่บ้าน แต่หากเด็กมีแผลไหม้รุนแรง เช่น แผลที่เกิดการพุพอง ควรพาไปพบแพทย์ทันที และคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์หากลูกมีภาวะดังต่อไปนี้:
- เป็นแผลไหม้ที่เกิดจากสารเคมี หรือไฟฟ้า
- เป็นแผลไหม้ขนาดใหญ่หรือลึก หรือมีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือของคุณแม่
- แผลไหม้ที่ทำให้ผิวหนังเป็นสีขาวหรือไหม้เกรียม
- แผลไหม้ที่อยู่บริเวณใบหน้า มือ แขน ขา เท้า หรืออวัยวะเพศ
- แผลไหม้ที่เริ่มพุพอง
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (2 กุมภาพันธ์ 2020)