ข้อเท้าเคล็ด
วิธีปฐมพยาบาลเด็ก
อาการข้อเท้าเคล็ด ขัด ยอก เป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้บ่อยในเด็ก ที่มักจะวิ่ง กระโดด หรือเล่นกีฬา
ข้อเท้าเคล็ดเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ข้อเท้าประกอบไปด้วยกระดูก 3 ชิ้น พร้อมเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกเข้าไว้ด้วยกัน อาการข้อเท้าเคล็ดมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการบิดและเอ็นจะถูกยืดออกมากเกินไป จนอาจทำให้เกิดการฉีกขาดและมีเลือดออก ซึ่งจะสามารถเห็นได้จากอาการช้ำและบวม
อาการเป็นอย่างไร?
- มีอาการบวมซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที หรือหลายชั่วโมงหลังจากนั้น
- ปวดรอบข้อต่อข้อเท้า
- มีรอยช้ำซึ่งจะปรากฏขึ้นภายใน 2 – 3 วัน
วิธีการดูแลรักษาเองที่บ้าน
อาการข้อเท้าเคล็ดโดยทั่วไปแล้วมักจะสามารถดูแลรักษาเองที่บ้านได้ สิ่งสำคัญคือคุณแม่จะต้องปฐมพยาบาลทันที และใช้หลักการ RICE (Rest – พัก Ice – ประคบน้ำแข็ง Compression – รัดข้อเท้า Elevation – ยกเท้าขึ้นสูง) จนกว่าอาการจะดีขึ้น
- พัก (Rest) พักบริเวณที่บาดเจ็บและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดอาการปวดมากขึ้น หากลูกของคุณแม่มีปัญหาในการเดิน ควรใช้ไม้ค้ำ
- ประคบน้ำแข็ง (Ice) ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่บาดเจ็บเป็นเวลาประมาณ 15 นาที อย่าวางน้ำแข็งลงบนผิวโดยตรงเพราะอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ ควรนำน้ำแข็งใส่ในถุงพลาสติกหรือผ้าขนหนู แล้ววางบนบริเวณข้อเท้าทุกๆ 2 – 4 ชั่วโมงประมาณ 2 – 3 วัน
- การรัดข้อเท้า (Compression) ใช้ผ้าพันแผลแบบธรรมดาหรือชนิดผ้ายืดพันบริเวณข้อเท้า โดยที่ไม่รัดแน่นจนเกินไปและไม่ขัดขวางการไหลเวียนของเลือด หรือทำให้เกิดอาการปวด ควรพันผ้าพันแผลให้ครอบคลุมตั้งแต่เหนือข้อเท้าลงไปจนถึงเท้า
- ยกเท้าขึ้นสูง (Elevation) ยกข้อเท้าขึ้นสูงเพื่อช่วยลดอาการบวม เช่น วางขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บของลูกไว้บนหมอน
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ หากลูกไม่สามารถทิ้งน้ำหนักลงบนข้อเท้าข้างที่เจ็บได้ทันทีหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ หรือไม่สามารถขยับเท้าได้ หรืออาการปวดข้อเท้าของลูกไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 2 – 3 วัน
เมื่อใดที่ควรรับประทานยา?
เด็กบางคนอาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด ยาพาราเซตามอลสามารถใช้ได้ในกรณีทั่วไป ส่วนยาต้านการอักเสบก็อาจช่วยได้เช่นกัน แต่ยาเหล่านี้อาจไม่เหมาะสำหรับเด็กทุกคน คุณแม่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ ก่อนที่จะให้ยาใด ๆ กับลูก
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
ในช่วงแรก ๆ หลังจากเกิดการบาดเจ็บ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่อไปนี้:
- การแช่น้ำร้อนหรือความร้อนใดๆ: ความร้อนจะเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและทำให้อาการบวมยิ่งแย่ลง
- การบาดเจ็บซ้ำซ้อน: คุณแม่ควรแน่ใจว่าได้ป้องกันข้อเท้าของลูกจากการบาดเจ็บซ้ำซ้อน โดยการไม่ให้ข้อเท้ารับน้ำหนักมากเกินไป และเคลื่อนที่ด้วยความระมัดระวัง
- การนวดเท้า: การนวดเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต และอาจทำให้อาการบวมแย่ลง
วิธีการบริหารข้อเท้า
คุณแม่ควรกระตุ้นให้ลูกออกกำลังกาย และยืดกล้ามเนื้อเบา ๆ โดยควรเริ่มต้นไม่นานหลังจากได้รับบาดเจ็บเพื่อลดความฝืดหรือขัดของข้อเท้า แต่หากลูกรู้สึกเจ็บมาก อาจจำเป็นต้องพักการขยับไปก่อน นี่คือ 3 สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้:
- ออกกำลังกายแบบตัวอักษร การใช้ข้อเท้าและฝ่าเท้าวาดตามตัวเลขจาก 1-9 ในอากาศ ทำซ้ำ 2 ครั้ง
- วาดวงกลมด้วยเท้า วาดวงกลมในอากาศด้วยเท้าที่ได้รับบาดเจ็บ ทำซ้ำ 10 ครั้ง
- เดินอย่างระมัดระวัง หากลูกสามารถรับมือกับความเจ็บได้ คุณแม่ควรให้ลูกพยายามเดินด้วยข้อเท้าภายใน 2 – 3 วันหลังจากได้รับบาดเจ็บ
ระยะเวลาในการฟื้นฟู
ลูกจะสามารถฟื้นตัวจากอาการข้อเท้าเคล็ดได้อย่างเต็มที่ภายใน 1 – 2 สัปดาห์หลังจากบาดเจ็บ
วิธีป้องกันอุบัติเหตุในอนาคต
เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พยายามให้ลูกของคุณแม่อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าพวกเขาสวมรองเท้าที่ดีและเหมาะกับการเล่นกีฬา
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (10 มีนาคม 2020)