อาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายหรือไม่?
คุณแม่
![อาการปวดหัวระหว่างตั้งครรภ์เป็นอันตรายหรือไม่?](https://mali.me/wp-content/uploads/fly-images/86809/Headache-1-1000x566-c.jpg)
คุณแม่บางคนอาจพบว่ามีอาการปวดหัวค่อนข้างบ่อย และสงสัยว่าอาการนี้จะมีผลเสียต่อลูกได้หรือไม่
อาการปวดหัวมักพบมากที่สุดในการตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ และมักจะมีอาการดีขึ้น หรือหายไปเองในช่วง 6 เดือนหลังของการตั้งครรภ์
อาการปวดหัวปกติ
อาการปวดหัวตามปกตินั้นไม่เป็นอันตรายต่อลูก แต่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวได้
อาการปวดหัวที่ผิดปกติ
อาการปวดหัวบางครั้งอาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนได้ โดยทั่วไปแล้วอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงหลังจากสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์โดยประมาณ และในช่วงใกล้คลอด หรือหลังคลอด ภาวะครรภ์เป็นพิษอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง หากไม่ได้รับการตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น เช่น เห็นภาพเบลอ หรือเห็นไฟกะพริบ
- ปวดบริเวณใต้ซี่โครง
- อาเจียน
- มีอาการบวมตามใบหน้า มือ เท้า หรือข้อเท้าอย่างฉับพลัน
เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ และจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาอย่างเร่งด่วน
วิธีรับมือกับอาการปวดหัวในขณะตั้งครรภ์:
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- นอนหลับให้เพียงพอ
- พักผ่อนและผ่อนคลาย – คุณแม่อาจลองเข้าคลาสโยคะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร การรับประทานยาพาราเซตามอลนั้น ไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อคุณแม่หรือลูก อย่างไรก็ตามควรใช้ยาในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรปรึกษาแพทย์
ข้อควรรู้
นอกเหนือไปจากการรับประทานยาพาราเซตามอลตามปกติแล้ว คุณแม่ห้ามรับประทานยาชนิดอื่น ๆ ด้วยตัวเอง มียาแก้ปวดบางชนิดที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์ เช่น ยาที่มีโคเดอีนเป็นส่วนประกอบ และยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ยกเว้นในกรณีที่แพทย์สั่งเนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้ที่ขึ้นกับอายุครรภ์