ดาวน์โหลดแอป

ร่วมมือกับคุณหมอสร้างครรภ์ที่มีคุณภาพ – บทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจากสูตินรีแพทย์

เกร็ดความรู้

ร่วมมือกับคุณหมอสร้างครรภ์ที่มีคุณภาพ – บทสัมภาษณ์อย่างละเอียดจากสูตินรีแพทย์

หลังจากวันที่ได้รู้ว่ากำลังมีลูกกำลังค่อย ๆ เติบโตอยู่ในท้อง คุณแม่คงมีความหวังจะได้เห็นเขาคลอดออกมาอย่างปลอดภัย และแข็งแรงมากที่สุด หากคุณแม่สามารถดูแลปัจจัยที่ควบคุมด้วยตัวเองได้ ก็จะสามารถช่วยให้ลูกสมบูรณ์แข็งแรง ถือเป็นภารกิจแรกที่คุณแม่และคุณหมอสามารถช่วยกันสร้างได้

เพื่อให้คุณแม่ได้เห็นแนวทางการสร้างครรภ์คุณภาพ ตั้งแต่วันเริ่มท้อง จนถึงวันคลอด เราจึงชวน คุณหมอกวาง – พญ. วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ สูตินรีแพทย์สาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยา ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ของมะลิ มาพูดคุยและให้คำแนะนำในฉบับที่เข้าใจง่าย

ทำไมคุณแม่ถึงควรต้องทำงานอย่างแข็งขันร่วมกับคุณหมอในการดูแลสุขภาพครรภ์?
การตั้งครรภ์นั้นมีทั้งส่วนที่เราควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อสุขภาพทั้งของแม่และลูก ส่วนที่ควบคุมได้ คือวัยที่เหมาะสม ในช่วงอายุราว 20-30 ปี แต่ด้วยยุคสมัย คนเราก็ไม่ได้ท้องในช่วงอายุนั้นกันทุกคน การตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่บางคนเริ่มมีโรคประจำตัวที่อาจไม่เคยตรวจพบมาก่อน เช่นไทรอยด์ เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ซึ่งโรคเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะเบาหวานในการตั้งครรภ์หากคุณแม่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ เป็นความเสี่ยงอาจส่งผลให้เด็กคลอดออกมาแล้วไม่แข็งแรง ต่อมาคือปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น โรคทางพันธุกรรม อย่าง ธาลัสซีเมีย หรือดาวน์ซินโดรม และโรคอื่น ๆ เช่นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ MS (Multiple Sclerosis) ซึ่งกลุ่มอาการเหล่านี้ สามารถรู้ก่อนได้จากการตรวจคัดกรองในช่วงไตรมาสที่ 1 เพื่อดูโอกาส ความเสี่ยงในการเกิดโรค

หลังจากผ่านขั้นตอนของการตรวจคัดกรองแล้ว การดูแลตนเองและลูกในขั้นตอนต่อไปเป็นอย่างไร?
ช่วงนี้จะเป็นการดูแลตัวเองในเรื่องอาหารการกิน สารอาหาร การให้ยาบำรุงต่าง ๆ และการดูแลให้น้ำหนักขึ้นพอดี ไม่มากเกินไป หลายคนเข้าใจว่าต้องกินเพิ่มเยอะ ๆ แต่เราไม่ต้องการให้น้ำหนักคุณแม่เพิ่มเยอะ ควรจะขึ้นแบบพอดี และมีสารอาหารเพียงพอ โดยในระยะ 18-22 สัปดาห์ เราก็จะได้อัลตราซาวด์ดูความสมบูรณ์ของลูก เพื่อดูโครงสร้างต่าง ๆ ว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ตามเกณฑ์ที่คุณหมอกำหนดเอาไว้ ตั้งแต่ สมอง หัวใจ ไต กระเพาะปัสสาวะ เส้นเลือด ความยาวแขนขา ฯลฯ

การทำอัลตราซาวด์ขึ้นอยู่กับอะไร บางคนได้อัลตราซาวด์บ่อย ในขณะที่บางคนแทบไม่ได้ทำ?
ในช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ที่ประจำเดือนมาปกติ จนสามารถทำนายอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำอาจไม่ได้ทำอัลตราซาวด์ การอัลตราซาวด์จริง ๆ จะเริ่มทำกันที่ช่วงไตรมาส 2 เพื่อดูความสมบูรณ์ของลูก ยิ่งคุณแม่ที่ไม่ได้อัลตราซาวด์มาในไตรมาสแรก จะได้ถือเป็นการยืนยันอายุครรภ์ไปด้วย และเมื่อพบว่าคุณแม่ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไร น้ำหนักขึ้นตามปกติ ลูกดิ้นดีตามปกติ ก็อาจไม่ต้องทำอัลตราซาวด์อีกเลยก็ได้ คุณหมอสามารถตรวจได้ผ่านการสังเกตยอดมดลูก คุณหมอจะมีรายการสำหรับตรวจและประเมินว่าควรทำอัลตราซาวด์หรือไม่ ซึ่งถ้าปรากฏว่ามีปัญหาที่ประเมินแล้วว่าจะต้องมีการติดตามต่อในไตรมาสสาม ก็อาจจะได้อัลตราซาวด์อีกในช่วงนั้น

ยาบำรุงเพิ่มเติม และวิตามินเสริม คุณแม่จำเป็นต้องกินไหม?
วิตามินที่ที่คุณหมอสั่งให้ส่วนใหญ่เพียงพออยู่แล้ว เช่นโอบิมิน-เอแซด กินเม็ดเดียวก็เพียงพอ เพราะว่าถ้าเรากินมากเกินไป ก็จะกลายเป็นวิตามินเอมากเกิน และไม่ว่าคุณแม่จะกินอาหารเสริมอะไรอยู่ ก็ควรให้นำมาให้คุณหมอดูก่อน เพราะบางครั้งจะไปซ้ำซ้อนกับของเดิม ทำให้ได้รับมากเกินไปจนเป็นอันตราย

วัคซีนในช่วงไตรมาสสอง?
ในช่วงอายุครรภ์ 24 ถึง 36 สัปดาห์ คุณหมอจะแนะนำให้ฉีดวัคซีน Tdap คือ วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน ตัวนี้จะเป็นวัคซีนที่เราหวังผลว่าจะส่งต่อเพื่อไปป้องกันลูกด้วย เพราะในช่วงที่คลอดออกมาจนถึง 6 เดือนแรกนั้น ลูกจะยังไม่สามารถรับวัคซีนกลุ่มนี้ได้

นอกจากนั้นยังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่คุณแม่สามารถฉีดเพื่อป้องกันตนเองได้ เพราะไข้หวัดใหญ่ในคนท้องนั้นจะแสดงอาการรุนแรงกว่าในคนทั่วไป

จากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปในไตรมาส 3 มีอะไรที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ?
คุณแม่ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติได้อยู่ ยกเว้นคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะรกเกาะต่ำ ครรภ์แฝด หรือเคยมีประวัติเลือดออก ก็อาจจะต้องงดกิจกรรมที่หนัก ๆ แต่สำหรับคนที่ตั้งครรภ์ปกติทั่วไป ก็สามารถออกกำลังกายได้ ไปไหนมาไหนได้ หากเดินไม่ไหวก็ใช้รถเข็น และคุณแม่ควรใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันเชื้อโรคทุกครั้งที่ไปโรงพยาบาล หรือไปในที่ที่คนเยอะ

เมื่อใกล้คลอด คุณแม่ที่กังวลเรื่องน้ำนมจะเตรียมตัวล่วงหน้าได้อย่างไร?
โดยทั่วไป ที่โรงพยาบาลจะมีการตรวจหัวนมของคุณแม่ เพื่อดูว่าหัวนมคุณแม่สั้นไปหรือเปล่าสำหรับการให้นมบุตร หากหัวนมสั้น ก็จะมีวิธีการช่วย เช่น การฝึกดึง หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยทำให้หัวนมยาวขึ้น เพราะน้ำนมคุณแม่จะมาได้ดีก็เมื่อลูกดูดได้ถูกวิธี ดูดได้เยอะ แต่ถ้าคุณแม่หัวนมสั้น หรือลูกมีพังผืดใต้ลิ้นก็จะดูดได้ไม่ดี ทำให้น้ำนมน้อยตามไปด้วย ดังนั้นสิ่งที่คุณแม่สามารถเตรียมตัวได้ ก็คือการเตรียมหัวนม และดื่มน้ำเยอะ ๆ

คลอดเองหรือผ่าตัด คุณหมอมีมุมมองอย่างไร?
แน่นอนว่าการคลอดทางช่องคลอดดีที่สุดอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้มีภาวะเช่น ลูกอยู่ในท่าก้นและคุณแม่เป็นท้องแรก หรือภาวะรกเกาะต่ำ ที่อาจทำให้ไม่สามารถคลอดเองได้ ส่วนที่บอกว่า ลูกตัวใหญ่จนทำให้คุณแม่คลอดเองไม่ได้ ในทางปฏิบัติแล้ว ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีกระดูกเชิงกรานแคบจริง ๆ ก็สามารถลองคลอดเองก่อนได้ หากไม่สำเร็จจริง ๆ คุณหมอก็จะพิจารณาให้ไปผ่าตัดคลอด ซึ่งการผ่าตัดคลอด ลูกจะไม่ได้รับจุลินทรีย์ชนิดดีในช่องคลอด เด็กหลายคนจะเกิดภาวะหายใจเร็วหลังคลอด เพราะว่าปอดยังไม่พร้อมทำงาน เนื่องจากไม่ได้รับการบีบรัดเพื่อไล่น้ำในปอดออกมามากเพียงพอ ส่วนข้อเสียของการคลอดเอง คือเราไม่สามารถกำหนดวันอย่างแน่ชัด บางทีต้องมาคลอดฉุกเฉิน

อาการแบบไหนที่คุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ แล้วรีบมาหาคุณหมอ?
คุณแม่หลายคนยังไม่ทราบว่า อาการน้ำเดิน เลือดออก ปวดท้อง ลูกดิ้นน้อย คือสัญญาณอันตรายที่จะต้องไปพบคุณหมออย่างรวดเร็ว ยิ่งช่วงใกล้คลอด คุณแม่หลายคนจะมีภาวะเสี่ยงเรื่องครรภ์เป็นพิษ จะสังเกตได้ว่าช่วงนี้คุณหมอจะนัดถี่ขึ้น ซึ่งคุณแม่หลายคนก็บ่นว่ามากี่ครั้งก็ทำแบบเดิม แต่จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงทั้งของคุณแม่และลูกจะเกิดขึ้นเร็วมาก ถ้ามีอะไรผิดปกติ แล้วคุณหมอรู้ได้เร็ว ก็จะได้ดูแลกันได้

เช่นการตรวจปัสสาวะเพื่อดูภาวะโปรตีนรั่ว เพราะเป็นภาวะที่ทำให้คุณแม่อาจจะต้องคลอดก่อนกำหนด หากคุณหมอพบอาการนี้ ก็จะตรวจละเอียดเพื่อดูว่าลูกและคุณแม่พร้อมที่จะคลอดไหม หากคุณแม่ไม่มาโรงพยาบาลเลย ปัญหาที่เกิดตามมาคือภาวะครรภ์เป็นพิษ อาจมีอาการชัก เลือดออกในสมอง ปอดบวมน้ำ เหล่านี้เป็นสิ่งที่หมอไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงต้องนัดบ่อย ๆ

ภาวะคลอดก่อนกำหนดนั้นควบคุมไม่ได้ก็จริง แต่ถ้าคุณแม่สังเกตอาการ รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ปกติ และรีบมาโรงพยาบาล คุณหมอก็สามารถให้ยายับยั้งการคลอด ให้ยากระตุ้นปอดทารกได้ทัน เขาก็จะมีโอกาสที่จะอยู่ต่อในท้องคุณแม่ได้อย่างปลอดภัยจนถึงวันคลอด

ถ้าเกิดกรณีคลอดฉุกเฉิน ไม่ได้ตรงวันที่กำหนดไว้ คุณแม่ควรทำอย่างไร?
ในช่วงใกล้กำหนดคลอด คุณแม่ควรพกสมุดฝากครรภ์ติดตัวเอาไว้เลย เพราะในสมุดฝากครรภ์จะมีข้อมูลการตรวจเลือดต่าง ๆ ภาวะที่อาจมีผลต่อการคลอด น้ำหนักตัวและความดันของคุณแม่ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อคุณหมอที่จะทำการคลอดให้ หากคุณแม่ไม่มีสมุดฝากครรภ์ แต่มีประวัติการตรวจ และการฝากครรภ์อยู่ ก็สามารถขอข้อมูลเหล่านั้นจากโรงพยาบาลมาเก็บไว้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว โรงพยาบาลจำเป็นจะต้องให้ข้อมูลทางสุขภาพเหล่านี้กับคุณแม่

หลังจากคลอดแล้ว คุณหมอก็หมดหน้าที่เลยไหม?
จริง ๆ ยังต้องดูแลคุณแม่หลังคลอดอยู่ค่ะ แล้วก็อยากให้คุณแม่มาหาหมอด้วย (หัวเราะ) เพราะเรายังต้องดูเรื่องน้ำคาวปลา การกลับเข้าอู่ของมดลูก เรื่องแผลหลังคลอด รวมถึงการคุยกันเรื่องการคุมกำเนิด

ระยะเวลาที่คุณหมอแนะนำสำหรับการท้องครั้งต่อไป
โดยทั่วไปก็ 1 ปีหลังคลอดค่ะ แต่ถ้าคุณแม่บางคนอายุเยอะแล้ว ก็อาจจะอยู่ที่ 6 เดือนก็ได้

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน