อาการกรดไหลย้อนในขณะตั้งครรภ์
คุณแม่

อาการกรดไหลย้อนคือการแสบร้อนอย่างรุนแรงในบริเวณทรวงอก ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหารที่ถูกส่งผ่านจากกระเพาะขึ้นมาทางหลอดอาหาร
คุณแม่ตั้งครรภ์มากกว่าครึ่งจะพบอาการแสบร้อนที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์
สาเหตุของอาการกรดไหลย้อน
อาการกรดไหลย้อนเกิดขึ้นเมื่อหูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารไม่สามารถป้องกันกรดจากกระเพาะอาหารไม่ให้ไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้ ในระหว่างตั้งครรภ์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะส่งผลทำให้หูรูดนั้นหย่อนลง ซึ่งอาจเพิ่มความถี่ของอาการกรดไหลย้อน ซึ่งจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารสามารถผ่านเข้าไปในหลอดอาหาร และเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดอาหารได้ นอกจากนี้ ขนาดของมดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นยังทำให้ความดันในช่องท้องนั้นเพิ่มขึ้น และเป็นการผลักดันกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปสู่หลอดอาหารได้มากขึ้นด้วย
สิ่งที่สามารถทำได้
เพื่อลดอาการกรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่มีผลกระทบต่อลูก คุณแม่ควรลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ลดปริมาณอาหารต่อมื้อลง แล้วเพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น
- รับประทานอาหารให้ช้าลง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด อาหารมัน ๆ และอาหารที่มีไขมันสูง
- ดื่มน้ำน้อย ๆ ในระหว่างที่รับประทานอาหาร การดื่มน้ำมาก ๆ ในขณะที่กำลังรับประทานอาหารอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกรดไหลย้อนและอาการแสบร้อนกลางอกได้
- หากคุณแม่ต้องการเอนหลัง หรืองีบหลับ ควรรอเวลาสักหนึ่งชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร
- พยายามยกหัวเตียงให้สูงกว่าปลายเตียง หรือคุณแม่อาจใช้หมอนหนุนไหล่และหลังให้สูงขึ้นเพื่อป้องการไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาสู่หลอดอาหารได้
วิธีธรรมชาติในการช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อน
- รับประทานโยเกิร์ต หรือดื่มนมสักแก้ว
- ผสมน้ำผึ้งสักหนึ่งช้อนโต๊ะลงในนมอุ่น ๆ แล้วดื่ม
หากอาการกรดไหลย้อนของคุณแม่ไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้ยาที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เพื่อช่วยบรรเทาอาการ และไม่ต้องกังวลไป เพราะอาการกรดไหลย้อนมักหายไปเมื่อลูกมาถึง
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (15 พฤษภาคม 2019)