เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และยาส่งผลต่อทารกอย่างไร
เกร็ดความรู้
การใช้ยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อทารกที่กำลังพัฒนา ซึ่งยาที่เป็นอันตรายไม่ได้มีแต่ยาที่ผิดกฎหมายเท่านั้น
การใช้ยา ดื่มแอลกอฮอลล์ และใช้สารเสพติดต่าง ๆ รวมไปถึงการใช้ยาที่มีขายทั่วไปอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
ข้อมูลจากงานวิจัย
งานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นว่าเมื่อหญิงตั้งครรภ์ใช้ยาสูบ แอลกอฮอลล์ หรือเสพยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ผิดกฎหมายหรือไม่ก็ตาม อาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของทารกที่กำลังเติบโตอยู่ในครรภ์ได้
การเสพสารเหล่านี้ระหว่างตั้งครรภ์ยังเพิ่มความเสี่ยงให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์มากขึ้นถึงสองหรือสามเท่า นอกจากนั้น เด็กทารกจำนวนมากที่รอดชีวิตจากการคลอดกลับเสียชีวิตในวัยเยาว์ หรือหากรอดมาได้ก็อาจมีความพิการไปตลอดชีวิต
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสารเหล่านี้สามารถส่งผ่านรกได้ เมื่อคุณแม่รับเข้าไปในร่างกาย สารจะถูกส่งผ่านกระแสเลือดไปยังทารก ตับของทารกเป็นอวัยวะลำดับท้าย ๆ ที่จะพัฒนาและจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จนกว่าจะถึงระยะหลังของการตั้งครรภ์ ดังนั้นร่างกายของทารกน้อยจะไม่สามารถกำจัดสารอันตรายเหล่านี้ออกไปได้และสารเหล่านี้จะเข้าไปทำลายการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ของทารก
ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
การใช้ยาบางชนิดในช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดผลกระทบตามมา ตัวอย่างเช่น :
- ความพิการแต่กำเนิด
- น้ำหนักแรกเกิดน้อย
- คลอดก่อนกำหนด
- เส้นรอบศีรษะเล็ก
- โรคไหลตายในทารก (sudden infant death syndrome หรือ SIDS)
- อาการถอนยาของทารกแรกเกิด (neonatal abstinence syndrome หรือ NAS)
อาการถอนยาของทารกแรกเกิด คืออาการที่ทารกแสดงอาการขาดยาเมื่อแรกเกิด งานวิจัยส่วนใหญ่ที่ทำเกี่ยวกับโรคนี้จะมุ่งเน้นไปที่อาการที่เกิดจากยาระงับประสาทเช่นฝิ่น ยาแก้ปวด หรือเฮโรอีน จากข้อมูลพบว่าการดื่มแอลกอฮอลล์ ใช้ยานอนหลับ หรือดื่มคาเฟอีนระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เด็กทารกเกิดอาการถอนยาได้เช่นกัน
ทารกแรกเกิดอาจมีอาการถอนยาทันทีหลังคลอดหรือภายใน 14 วันหลังคลอด โดยมักมีอาการดังนี้
- ตัวสั่น
- ร้องไห้บ่อยกว่าปกติ หรือร้องเสียงแหลมสูง
- ปฏิกริยาการดูดผิดปกติ
- ปฏิกริยาตอบสนองไวกว่าปกติ
- กล้ามเนื้อตึง
- หงุดหงิดง่าย
- หายใจถี่
- อาการชัก
- ปัญหาในการนอนหลับ
- คัดจมูก จาม
- เหงื่อออก
- อาเจียน
- สีผิวเป็นด่างดวง
- ท้องเสีย
ลักษณะอาการและความรุนแรงของอาการถอนยาจะแตกต่างกันไปตามชนิดของยาที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ยาและความถี่ที่คุณแม่ใช้ยานั้น ๆ การตอบสนองของร่างกายคุณแม่ต่อยา และการคลอดตามกำหนดหรือคลอดก่อนกำหนด
ผลเสียระยะยาวต่อทารก
ผลกระทบส่วนใหญ่ที่เกิดจากการใช้ยามักเป็นผลเสียระยะยาว แต่อาการที่พบบ่อยมักเกิดจากการดื่มแอลกอฮอลล์ เรียกว่าโรค FASD (fetal alcohol spectrum disorder) เป็นกลุ่มอาการที่ทารกในครรภ์ได้รับแอลกอฮอลล์ซึ่งส่งผลกระทบต่อทารกในระยะยาวดังนี้
- ปัญหาด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม
- ปัญหาที่ข้อต่อ กระดูก กล้ามเนื้อ และอวัยวะบางส่วน
- การจัดการอารมณ์และพัฒนาการทางสังคม
- สมาธิสั้น และการควบคุมตนเอง
- การสื่อสาร เช่นปัญหาด้านการพูด
- ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นหากตามปริมาณแอลกอฮอลล์ที่คุณแม่ดื่ม
ควรทำอย่างไรหากดื่มแอลกอฮอลล์ หรือใช้สารต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์
พยายามอย่ากังวลมากเกินไป เนื่องจากการกังวลไม่สามารถช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ มีโอกาสน้อยมากที่สารต่าง ๆ ที่คุณเสพเข้าไปก่อนที่จะรู้ว่าตั้งครรภ์นั้นได้ทำอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์
การตั้งครรภ์นั้นคำนวณจำนวนสัปดาห์นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ประจำเดือนขาดและคุณรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะมีอายุประมาณหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ปัจจัยภายนอกยังไม่สามารถสร้างผลกระทบที่ดี หรือไม่ดีได้มากนัก
อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผดุงครรภ์ เพื่อปรึกษาและคลายความกังวล โดยผู้เชี่ยวชาญจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงเรื่องการใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มเติมได้
การใช้ยาและเครื่องดื่มสำหรับคุณแม่ที่กำลังให้นม
สารส่วนใหญ่ที่คุณรับเข้าไปในร่างกายอาจส่งต่อไปยังนมแม่ สารเหล่านี้รวมถึงแอลกอฮอลล์, ยาสูบ, สารเสพติดที่ผิดกฎหมาย, ยาที่มีจำหน่ายทั่วไป, ยาตามใบสั่งยา หรือสารอื่น ๆ ที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามปริมาณที่ส่งผ่านไปยังน้ำนมจะขึ้นอยู่กับประเภทของยา ปริมาณที่เสพเข้าไป และปริมาณยาที่มีอยู่แล้วในร่างกายขณะที่ให้นม (โดยปกติปริมาณยาในร่างกายของคุณแม่จะต่ำมากที่สุด ในช่วงก่อนที่จะใช้ยาครั้งต่อไป)
คุณแม่ที่กำลังให้นม ควรปฏิบัติดังนี้:
- หลีกเลี่ยงแอลกอฮอลล์, บุหรี่, สารเสพติดผิดกฎหมาย รวมไปถึงยาที่มีจำหน่ายทั่วไป
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเสมอว่าอยู่ระหว่างให้นมลูก
- หากได้รับใบสั่งยาจากแพทย์ พยายามให้นมลูกก่อนทานยา เพื่อจำกัดปริมาณยาที่ส่งต่อไปยังทารกทางน้ำนม
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (1 มิถุนายน 2022)