ลูกจะสามารถรับเชื้อ HIV และ HPV จากแม่ได้หรือไม่?
เกร็ดความรู้
HPV และ HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV หรือ HIV ในระหว่างตั้งครรภ์อาจมีความกังวลว่าเชื้อไวรัสอาจเป็นอันตรายต่อลูก แต่โดยส่วนใหญ่เชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์
HPV กับการตั้งครรภ์
โดยทั่วไปแล้ว เชื้อ HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากที่สุด เกือบทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์จะได้รับเชื้อไวรัส HPV ทั้งนี้เนื่องจากการติดเชื้อ HPV ไม่เหมือนกับการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ประเภทอื่น ๆ เชื้อ HPV นั้นมีกว่า 150 สายพันธุ์ที่แตกต่างกัน หลายคนมักไม่แสดงอาการใด ๆ และมักจะหายไปเอง มีเพียงผู้ติดเชื้อไม่กี่คนที่จะพบว่าตนเองนั้นติดเชื้อชนิดนี้
ความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ทารกในครรภ์
การแพร่เชื้ออาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่มีบาดแผลภายนอกที่ชัดเจน แม้ว่ารูปแบบของการแพร่เชื้อ HPV ไปสู่ทารกแรกเกิดโดยทั่วไปแล้วคือการติดเชื้อขณะคลอดผ่านทางช่องคลอด และเมื่อสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากมารดาที่ติดเชื้อ แต่ในบางกรณีทารกแรกเกิดก็อาจติดเชื้อได้แม้คลอดโดยการผ่าคลอด และอาจเกิดจากการติดเชื้อจากช่องคลอดจากการที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
ระหว่างการคลอดธรรมชาติกับการผ่าตัดคลอด
การมีหูดที่อวัยวะเพศอาจไม่ถือเป็นความจำเป็นที่คุณแม่จะต้องตัดสินใจเลือกการผ่าตัดคลอด เนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดโรดหูดหงอนไก่ในกล่องเสียงของเด็กทารกนั้นมีค่อนข้างน้อย และยังมีรายงานเกี่ยวกับการเกิดโรคในเด็กทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอด รวมไปถึงความเสี่ยงที่เกิดจากการผ่าตัดคลอดอีกด้วย นอกจากนี้ ยังไม่มีการศึกษาที่น่าเชื่อถือที่ชี้ให้เห็นได้ว่าการผ่าตัดคลอดจะช่วยป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์สำหรับการผ่าตัดคลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อ HPV คือการมีหูดบริเวณช่องคลอด หรือบริเวณปากมดลูกที่ปิดกั้นช่องคลอด
HIV กับการตั้งครรภ์
การได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะไม่สามารถมีลูกได้ ถึงแม้ว่าคุณแม่ที่มีเชื้ออยู่ในร่างกายจะสามารถแพร่เชื้อเอชไอวีไปยังลูกได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ขณะคลอด หรือโดยการให้นม แต่ข่าวดีก็คือ มีหลายวิธีที่สามารถลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ HIV ไปยังทารกในครรภ์จนเกือบเป็นศูนย์ได้
HIV มีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร
โดยส่วนใหญ่แล้วเชื้อ HIV จะไม่สามารถผ่านจากรกไปสู่ทารกได้ หากคุณแม่มีสุขภาพดี รกจะช่วยป้องกันลูกที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในครรภ์ ปัจจัยที่จะลดความสามารถในการป้องกันของรก ได้แก่ การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อโรคแทรกซ้อน หรือคุณแม่มีภาวะขาดสารอาหาร
วิธีลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่ลูกในครรภ์
คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะสามารถทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ HIV ไปยังลูกในครรภ์ ดังนี้:
- รับประทานยาต้านเชื้อ HIV ระหว่างตั้งครรภ์ตามที่แพทย์กำหนด
- หากตรวจพบว่ามีเชื้อ HIV อยู่ในร่างกายในระดับสูงควรทำการคลอดด้วยการผ่าตัด
- ใช้ยาต้านเชื้อ HIV ในระหว่างคลอดตามความจำเป็น และให้ยาต้านเชื้อ HIV แก่ทารกหลังคลอด
- ห้ามให้นมแม่
หากปฏิบัติตามข้อแนะนำที่กล่าวมาแล้ว 99% ของคุณแม่ที่ที่ติดเชื้อ HIV จะไม่แพร่เชื้อไปสู่ทารกในครรภ์
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (4 ธันวาคม 2019)