ภัยเงียบที่ซ่อนตัวอยู่ในกำแพงบ้าน – พิษสารตะกั่ว
ลูก
ตะกั่วเป็นโลหะที่เป็นพิษ แต่ในประเทศไทยยังคงมีการอนุญาตให้ใส่สารตะกั่วลงไปในสีที่ใช้ทากำแพงบ้านอยู่
เด็กทารกในครรภ์และเด็กอ่อนจะมีความเสี่ยงต่อพิษสารตะกั่วมากเป็นพิเศษ การสัมผัสกับสารตะกั่วแม้เพียงเล็กน้อยก็มีผลต่อ IQ ความสามารถในการใช้สมาธิ และ ความสำเร็จทางวิชาการในระยะต่อไปของชีวิต
พิษสารตะกั่วคืออะไร?
พิษสารตะกั่วเกิดเมื่อเราดูดซึมสารตะกั่วมากเกินไป โดยผ่านการหายใจ หรือ กลืนกินสิ่งที่มีสารตะกั่วเป็นส่วนผสม เช่น สี ฝุ่น น้ำดื่ม อาหาร เป็นต้น และเพราะผลจากพิษสารตะกั่วนั้นไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นสภาพเดิมได้ การปกป้องลูกไม่ให้ได้รับสารตะกั่วตั้งแต่แรกจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สารตะกั่วอันตรายอย่างไร ?
สารตะกั่วสามารถทำร้ายอวัยวะได้แทบทุกระบบ และยิ่งถ้าเป็นในเด็กด้วยแล้ว สารตะกั่วจะทำให้เกิดผลเสียทางด้านการเจริญเติบโตและพัฒนาการในระยะยาว และจะลามไปถึงผลเสียทางด้านพฤติกรรมและการได้ยินด้วย นอกจากนี้ การเรียนรู้และการเจริญเติบโตอาจล่าช้าลงได้
อะไรทำให้เกิดพิษจากสารตะกั่ว?
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ยังคงอนุญาตให้ใส่สารตะกั่วลงไปในสีทาบ้าน ด้วยเหตุนี้อาการพิษสารตะกั่วในเด็กมักจะเกิดจากการสัมผัสกับสีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว รวมถึงฝุ่น และดินที่ปนเปื้อนด้วยสีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว นอกจากนั้นสารตะกั่วในอากาศ น้ำ และ ดิน ก็อาจเป็นเหตุได้เช่นกัน
สีทาบ้านที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วทำให้ IQ ลดลง
งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่า ระดับ IQ ที่ต่ำในเด็กจากบางจังหวัดอาจเกิดจากสีที่ผสมสารตะกั่วที่นิยมใช้ทาไว้บนกำแพงตามบ้านและโรงเรียนเป็นต้นเหตุ
ใครจะต้องระวังตัวบ้าง?
กลุ่มที่เสี่ยงเป็นพิเศษคือเด็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ร่ายกายของเขาจะดูดซึมสารตะกัวในอัตราที่เร็วกว่า ในขณะเดียวกันสมองของเขาก็อยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา เด็กที่อายุน้อยอาจเคี้ยวและรับประทานแผ่นสีที่หลุดร่อนออกมาจากกำแพงหรือไม้ นอกจากนี้ เด็กวัยนี้มักเอามือ หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่อาจมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่เข้าปาก
อาการเป็นอย่างไร?
อาการของพิษสารตะกั่วนั้นอาจจะตรวจสอบได้ยาก เพราะว่ามีโรคอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กแสดงอาการแบบเดียวกันออกมา คุณแม่อาจลองสังเกตอาการ เช่น
- ความฉลาดที่ลดลงเล็กน้อย
- ตัวเล็กกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
- ปัญหาพฤติกรรม เช่น การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิด หรือ อยู่ไม่นิ่ง
- ไร้เรี่ยวแรง ไม่อยากอาหาร
พิษสารตะกั่ววินิจฉัยได้อย่างไร?
หากว่ากุมารแพทย์สงสัยว่าลูกอาจรับพิษสารตะกั่วมา หมอจะเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบปริมาณสารตะกั่วในเลือด อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ มักจะยังไม่แสดงอาการจนกว่าระดับสารตะกั่วในเลือดนั้นจะสูงมาก
สีไร้สารตะกั่วปลอดภัยทั้งหมดหรือไม่?
โชคร้ายที่สีหลาย ๆ ยี่ห้อที่โฆษณาว่า “ปลอดสารตะกั่วและปรอท” ยังคงมีส่วนผสมของสารตะกั่วอยู่ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยโดย Dr. Hammond อาจารย์มหาวิทยาลัย the University of Waterloo
วิธีการปกป้องลูกจากสารตะกั่ว
- ทาสีห้องนอนและบริเวณที่ลูก ๆ มักเล่นใหม่ ด้วยสีทาบ้านจากส่วนผสมธรรมชาติที่ผู้ผลิตสามารถยืนยันได้ว่าปลอดสารตะกั่ว 100% อย่าลืมว่าคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ไม่ควรเป็นคนลอกสีออกด้วยตัวเอง เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสีที่มีสารตะกั่ว
- ถ้าหากคุณแม่สงสัยว่าบนกำแพงอาจมีสีผสมสารตะกั่วอยู่ แต่ไม่สามารถทาสีใหม่ได้ในทันที ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดกำแพง
- รักษาบ้านและของเล่นของเด็ก ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ ๆ รวมทั้งใช้ผ้าชุบน้ำหมาดในการเช็ดพื้นผิวที่มีฝุ่นเกาะ
- พยายามรับปรทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง อาหารที่มีประโยชน์จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารตะกั่วได้น้อยลง