น้ำคร่ำรั่ว : สัญญาณของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
เกร็ดความรู้
น้ำคร่ำ คือของเหลวอุ่น ๆ ที่ทำหน้าที่ปกป้องอยู่รอบตัวทารกในครรภ์
ในบางรายหากน้ำคร่ำรั่วออกมา คุณแม่กับทารกก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงได้
น้ำคร่ำรั่วคืออะไร?
ภายในครรภ์จะมีถุงน้ำคร่ำ ซึ่งเป็นเยื่อบาง ๆ ที่ห่อหุ้มน้ำคร่ำเอาไว้ โดยปกติแล้วถุงน้ำคร่ำจะแตกออกเมื่อมีการเจ็บท้องคลอด หรือที่เรียกกันว่า ถุงน้ำคร่ำแตก หรือน้ำเดิน ในบางครั้งถุงน้ำคร่ำอาจแตกออกก่อนครบกำหนดคลอด หรือถุงน้ำคร่ำแตกเมื่อคุณแม่ยังไม่เจ็บท้องคลอด ซึ่งจะเรียกว่าเป็นภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด (premature rupture of membranes หรือ PROM) ซึ่งทำให้น้ำคร่ำรั่วออกมา
หากน้ำคร่ำแตกแล้ว ผู้หญิงส่วนใหญ่จะเริ่มเจ็บท้องและคลอดภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากน้ำคร่ำแตกก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ จะเรียกว่าเป็นภาวะน้ำเดินก่อนครบอายุครรภ์ (preterm premature rupture of membranes หรือ PPROM) ยิ่งน้ำคร่ำแตกก่อนครบกำหนดเร็วเท่าไร สถานการณ์ก็จะยิ่งอันตรายมากขึ้นสำหรับคุณแม่และทารก
ทำความเข้าใจเรื่องปริมาณน้ำคร่ำ
ปริมาณน้ำคร่ำจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น และจะมีปริมาณมากที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ 36
- ในสัปดาห์ที่ 12 น้ำคร่ำจะมีประมาณ 60 มิลลิลิตร
- ในสัปดาห์ที่ 16 น้ำคร่ำจะมีประมาณ 175 มิลลิลิตร
- ในช่วงสัปดาห์ที่ 34 – 38 น้ำคร่ำจะมีประมาณ 400 – 1200 มิลลิลิตร
แพทย์จะวัดปริมาณน้ำคร่ำจากการอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสอบและคำนวณดัชนีปริมาณน้ำคร่ำ (amniotic fluid index หรือ AFI) หรือใช้การวัดแอ่งที่ลึกสุดของน้ำคร่ำ (Maximum vertical pocket depth หรือ MVP)
จะรู้ได้อย่างไรว่าน้ำคร่ำรั่ว
น้ำคร่ำที่ไหลออกมาจะแตกต่างจากปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งจากช่องคลอดอื่นๆ เพราะน้ำคร่ำเป็นน้ำใส อาจมีเศษสีขาว หรือมูกเลือดเจือปนอยู่ น้ำคร่ำจะไม่มีกลิ่นและมักเปียกทั่วชุดชั้นใน น้ำคร่ำจะแตกต่างจากปัสสาวะ เพราะปัสสาวะมักมีกลิ่นยูรีน และแตกต่างจากสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพราะสารคัดหลั่งมักมีสีขาวหรือเหลือง
ยิ่งไปกว่านั้น หากน้ำคร่ำรั่วออกมา คุณแม่จะเห็นได้ว่าน้ำมีปริมาณมากกว่าปกติ และน้ำจะไหลออกมาตอนที่นอนราบมากกว่าตอนนั่ง ยืน หรือเดินอยู่ เนื่องจากตอนที่คุณแม่ลำตัวตั้งตรง หัวของทารกจะปิดทางไหลของน้ำคร่ำบริเวณปากมดลูก ทำให้น้ำคร่ำยังอยู่ภายใน
อีกทางหนึ่งที่จะพิจารณาว่าน้ำที่ไหลออกมาเป็นน้ำคร่ำหรือไม่ คือให้ปัสสาวะให้หมดก่อน จากนั้นใส่ผ้าอนามัย แล้วตรวจดูอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง หากน้ำที่ไหลออกมามีสีเหลืองก็อาจเป็นปัสสาวะ แต่หากไม่ใช่สีเหลืองก็มีความเป็นไปได้ว่าเป็นน้ำคร่ำ
ผลกระทบต่อทารก
ภาวะน้ำคร่ำรั่วอาจทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ในทุกช่วงของการตั้งครรภ์ หากเกิดในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร พัฒนาการล่าช้า เกิดความผิดปกติแรกเกิด คลอดก่อนกำหนด หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้
หากน้ำคร่ำรั่วในไตรมาสที่ 3 ก็อาจทำให้เกิดแรงกดต่อรก ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการรับออกซิเจน ความเสี่ยงนี้อาจทำให้จำเป็นต้องผ่าคลอดได้
ควรทำอย่างไรหากน้ำคร่ำรั่ว
เมื่อสังเกตว่าน้ำคร่ำรั่ว ควรไปพบแพทย์ทันที เมื่อถึงโรงพยาบาลแพทย์จะทำการทดสอบพื้นฐานเพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ไหลออกมาคือน้ำคร่ำ จากนั้นแพทย์จะตรวจสอบระยะของการตั้งครรภ์
เมื่อตรวจสอบจนแน่ใจว่ามีภาวะน้ำคร่ำรั่วแล้ว คุณแม่ต้องอยู่โรงพยาบาลจนกว่าจะคลอดบุตร อย่างไรก็ตามแพทย์จะพูดคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และเสนอทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับอายุครรภ์
ช่วงสัปดาห์ที่ 37 : หากอายุครรภ์ครบกำหนดที่ 37 สัปดาห์แล้ว ทารกก็พร้อมที่จะคลอดได้ ผู้ดูแลอาจแนะนำให้ดูอาการอีก 2 – 3 ชั่วโมงเพื่อดูว่ามีการเจ็บท้องคลอดหรือไม่ หากไม่เจ็บท้องคลอด ก็มักแนะนำให้คลอดโดยใช้การกระตุ้นเร่งคลอดหรือผ่าคลอด ขึ้นอยู่กับประวัติทางการแพทย์
ช่วงสัปดาห์ที่ 34 – 37 : ผู้ดูแลมักเสนอให้ทำการชักนำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการติดเชื้อ ในบางครั้งแพทย์อาจให้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อให้โอกาสทารกได้พัฒนาในครรภ์ อย่างไรก็ตามอาจปลอดภัยกว่าหากทารกคลอดก่อนกำหนดสองสามสัปดาห์ ดีกว่าที่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ก่อนสัปดาห์ที่ 34 : หากน้ำคร่ำรั่วก่อนสัปดาห์ที่ 34 แพทย์อาจพยายามประวิงเวลาการเจ็บครรภ์คลอดโดยให้คุณแม่นอนพัก โดยให้รับยาฆ่าเชื้อประเภทสเตียรอยด์เพื่อกระตุ้นให้ปอดของทารกเจริญเติบโตเร็วขึ้น นอกจากนี้หากน้ำคร่ำรั่วก่อนสัปดาห์ที่ 32 คุณแม่อาจได้รับแมกนีเซียมซัลเฟต เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติทางประสาทในทารก
ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะน้ำคร่ำรั่ว
ปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำคร่ำรั่วมีดังนี้
- การสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์
- เลือดไหลเรื้อรังทางช่องคลอดตลอดการตั้งครรภ์
- ประวัติเคยมีถุงน้ำคร่ำแตกมาก่อนในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า
- ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial vaginosis หรือ BV)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด
- ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด
- มีทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน
มีธีป้องกันน้ำคร่ำรั่ว
ไม่มีวิธีที่จะช่วยป้องกันน้ำคร่ำรั่วได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการดูแลร่างกายขณะตั้งครรภ์ ไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์สม่ำเสมอ ทานอาหารที่ดี หลีกเลี่ยงแอลกอฮอลล์ บุหรี่ และยาเสพติดผิดกฎหมาย หากมีประวัติน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนควรแจ้งแพทย์ผู้ดูแลตั้งแต่ไปฝากครรภ์
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (1 มิถุนายน 2022)