อาการตะคริวที่ขาในคนท้อง- สาเหตุและวิธีแก้ไข
คุณแม่
ตะคริวที่ขาเป็นอาการเจ็บปวดที่มักเกิดขึ้นในเวลากลางคืนในช่วงตั้งครรภ์
สาเหตุของตะคริวที่ขา
ไม่มีใครแน่ใจว่าสาเหตุของอาการคืออะไร แต่บางคนเชื่อว่าเกิดจากการที่คุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น จึงทำให้ร่างกายต้องแบกรับภาระมากขึ้น เนื่องจากตะคริวที่ขามักพบบ่อยที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การขาดน้ำ หรือปัญหาการไหลเวียนโลหิต ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของมดลูกและความกดดันที่มากขึ้น ก็อาจเป็นสาเหตุได้เช่นกัน
จะลดอาการตะคริวที่ขาได้อย่างไร
- ยืดกล้ามเนื้อน่องของคุณแม่ทันทีโดยการยืดขาก่อน และค่อย ๆ งอเท้ากลับไปที่หน้าแข้ง (อย่าเกร็งนิ้วเท้าขณะยืด เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อหดตัวและอาการแย่ลงได้) การยืดแบบนี้อาจเจ็บปวดในตอนแรก แต่จะช่วยลดอาการกระตุก และค่อย ๆ ลดตะคริวที่ขาให้หายไปได้
- หลังจากที่คุณแม่ยืดกล้ามเนื้อ นวดขา หรือประคบอุ่นด้วยถุงน้ำร้อนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้ว การเดินไปรอบ ๆ สักพักก็อาจช่วยได้เช่นกัน
ป้องกันได้อย่างไร
น่าเสียดายที่ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถป้องกันตะคริวที่ขาระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างแน่นอน แต่เคล็ดลับเหล่านี้อาจช่วยลดการเกิดตะคริวลงได้:
- ไม่ยืน หรือนั่งไขว่ห้างเป็นเวลานานๆ
- ยืดกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำในระหว่างวัน และทำอีก 2-3 ครั้งก่อนเข้านอน
- หมุนข้อเท้า และกระดิกนิ้วเท้าไปพลาง ๆ ขณะนั่งเพลิน ๆ หรือดูโทรทัศน์
- เดินเล่น ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน (ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ว่าไม่ควรออกกำลังกาย)
- นอนตะแคงซ้ายเพื่อช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตไปที่ขาได้ดีขึ้น
- ดื่มน้ำเป็นประจำระหว่างวันเพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- ลองแช่น้ำอุ่นในอ่างอาบน้ำก่อนนอนเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
การรับประทานอาหารเสริมช่วยได้หรือไม่
งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานวิตามินเสริมธาตุแมกนีเซียม นอกเหนือจากวิตามินสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ อาจช่วยป้องกันตะคริวที่ขาได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าการเสริมแมกนีเซียมไม่ส่งผลต่อความถี่ หรือความรุนแรงของอาการ
คุณแม่อาจเคยได้ยินว่าอาการตะคริวที่ขาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าคุณแม่กำลังขาดแคลเซียม และการรับประทานวิตามินเสริมแคลเซียมอาจจะช่วยบรรเทาอาการได้ แม้ว่าการได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอนั้นจะสำคัญกับร่างกาย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการเสริมแคลเซียมจะช่วยป้องกันตะคริวที่ขาได้
ดังนั้นคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับประทานวิตามินเสริมในระหว่างตั้งครรภ์
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (14 มกราคม 2020)