ภาวะไม่ตกไข่: อาการและการรักษา
ภาวะไม่ตกไข่เป็นอาการที่ไม่เกิดการตกไข่ในร่างกาย เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากในผู้หญิง
ภาวะไม่ตกไข่เป็นอาการที่ไม่เกิดการตกไข่ในร่างกาย เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและมักเป็นสาเหตุของการมีบุตรยากในผู้หญิง
ภาวะไม่ตกไข่คืออะไร?
ภาวะไม่ตกไข่คือภาวะที่รังไข่ไม่ทำการปล่อยไข่ออกมาระหว่างรอบเดือน ซึ่งหมายความว่าไม่มีการตกไข่เลย บางครั้งภาวะไม่ตกไข่ก็เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ แต่เมื่อเกิดขึ้นบ่อย ๆ มักจะทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา
ในรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่ กลไกการทำงานของรอบเดือนตามปกติจะหยุดชะงักและเปลี่ยนแปลงไป ภาวะไม่ตกไข่มักเกิดจากหลายสาเหตุดังนี้:
- เกิดความผิดพลาดของสัญญาณฮอร์โมนที่ส่งออกจากสมอง หมายความว่ารังไข่ไม่ได้รับสัญญาณให้ไข่สุกและปล่อยไข่ออกมา สาเหตุนี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome – PCOS) หรือภาวะขาดประจำเดือนที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนไฮโปทาลามัส (hypothalamic amenorrhea)
- สมองส่งสัญญาณถูกต้อง แต่เกิดความผิดพลาดในการตอบสนองจากรังไข่ สาเหตุนี้อาจเกิดจากปัญหาต่าง ๆ ภายในรังไข่ เช่น ภาวะรังไข่เสื่อมก่อนอายุ หรือภาวะที่รังไข่ไม่ตอบสนอง (ovarian resistance syndrome)
ในขณะที่ไม่มีการตกไข่ เยื่อบุโพรงมดลูกจะไม่เข้าสู่ระยะลูเทียลในวงจรการทำงานของรังไข่อย่างสมบูรณ์ ทำให้รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ หรือไม่มีประจำเดือน นอกจากนี้เมื่อไม่มีการตกไข่ก็จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
ถึงแม้การไม่ตกไข่จะเป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไปในบางเดือน การไม่ตกไข่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้
ภาวะไม่ตกไข่ พบได้บ่อยแค่ไหน?
ในผู้หญิงสุขภาพดี การไม่ตกไข่บ้างเป็นครั้งคราวถือเป็นเรื่องปกติ การวิจัยพบว่าภาวะไม่ตกไข่อาจเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 15% แต่หากมีภาวะนี้เกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีปัญหาเกี่ยวกับการมีบุตร อย่างไรก็ตามหากมีการไม่ตกไข่เป็นเวลานานหรือไม่ตกไข่เรื้อรังหลาย ๆ รอบเดือนจึงจะถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ
สาเหตุของภาวะไม่ตกไข่
ภาวะไม่ตกไข่มักเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ภาวะต่าง ๆ เช่นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome – PCOS) โรคอ้วน น้ำหนักน้อยเกินไป และการออกกำลังกายมากเกินไปอาจทำให้สมดุลของฮอร์โมนหยุดชะงักและทำให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ นอกจากนี้ความเครียดและการใช้ยาบางชนิดก็อาจมีส่วนส่งผลให้เกิดภาวะไม่ตกไข่ได้
ปัจจัยเสี่ยงของการไม่ตกไข่
การมีน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักน้อยเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงในการไม่ตกไข่ นอกจากนี้ภาวะต่างๆ เช่นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome – PCOS) ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ความผิดปกติของการกินอาหารเช่นอะนอเร็กเซีย บูลิเมีย ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะไม่ตกไข่เช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่งคืออายุ เมื่อผู้หญิงมีอายุเข้าใกล้วัยทองมากขึ้นก็จะเริ่มมีบางรอบเดือนที่ไม่มีการตกไข่
อาการของภาวะไม่ตกไข่
อาการที่พบบ่อยที่สุดในภาวะไม่ตกไข่คือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาด สัญญาณอื่น ๆ ได้แก่ประจำเดือนมามากหรือน้อยเกินไป ไม่มีอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) หรือภาวะมีบุตรยากที่หาสาเหตุไม่ได้
การรักษาภาวะไม่ตกไข่
การรักษาภาวะไม่ตกไข่โดยส่วนใหญ่จะใช้การปรับสมดุลของฮอร์โมนโดยปรับการใช้ชีวิต เช่นปรับน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และลดความเครียดก็อาจจะช่วยให้กลับมาตกไข่ได้ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้ยาหรือการผ่าตัดด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมสำหรับคุณ
การป้องกันภาวะไม่ตกไข่
การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีนับเป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันภาวะไม่ตกไข่ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุล รวมไปถึงใช้การจัดการความเครียดก็จะช่วยให้ฮอร์โมนมีความสมดุลและมีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอ
หากคุณสงสัยว่ามีภาวะไม่ตกไข่ หรือมีความกังวลเกี่ยวกับรอบเดือน ควรปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ซึ่งจะสามารถทำการประเมินสุขภาพของคุณอย่างถี่ถ้วน และจะช่วยแนะนำทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมได้
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)