คุณสามารถเลื่อนรอบเดือนได้จริงไหม?
เคยแอบคิดอยากเปลี่ยนวันที่ประจำเดือนมาบ้างไหม? บางทีคุณอาจกำลังจะไปพักร้อน มีงานใหญ่ที่รอคอย หรืออาจกำลังจะมีสัปดาห์ที่งานยุ่งมาก
เคยแอบคิดอยากเปลี่ยนวันที่ประจำเดือนมาบ้างไหม? บางทีคุณอาจกำลังจะไปพักร้อน มีงานใหญ่ที่รอคอย หรืออาจกำลังจะมีสัปดาห์ที่งานยุ่งมาก
ข่าวดีก็คือเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนวันที่ประจำเดือนจะมา อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำความเข้าใจว่าการเลื่อนประจำเดือนต้องทำอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ รวมถึงมีความเสี่ยงและประโยชน์อย่างไรบ้าง
ทำความเข้าใจรอบเดือน
รอบเดือน เป็นกระบวนการตามธรรมชาติของร่างกาย เกิดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละเดือน รอบเดือนมีระยะเวลาเฉลี่ย 28 วัน แต่อาจอยู่ในช่วงตั้งแต่ 21 ถึง 35 วัน โดยระหว่างรอบเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ผนังมดลูกก่อตัวหนาขึ้น และหากไม่มีการตั้งครรภ์ผนังมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน
สามารถเลื่อนประจำเดือนด้วยวิธีธรรมชาติได้หรือไม่?
ปัจจุบันวิธีตามธรรมชาติในการเลื่อนรอบเดือนยังมีจำกัด และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนวิธีเหล่านี้ก็มีน้อยมาก ดังนั้นการพยายามเลื่อนประจำเดือนด้วยวิธีธรรมชาติไม่น่าจะได้ผล หากคุณมีตารางเวลาที่ยืดหยุ่นและไม่ค่อยกังวลว่าประจำเดือนจะมาในวันไหน ก็ลองใช้วิธีเหล่านี้ดูได้
วิธีธรรมชาติที่เชื่อกันว่าจะช่วยเร่งประจำเดือนให้มาเร็วขึ้น:
- ประคบร้อน: การประคบร้อนบริเวณหน้าท้องอาจช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการปวดประจำเดือน และมีโอกาสช่วยเร่งให้ประจำเดือนเริ่มมาเร็วขึ้นได้ การอาบน้ำร้อนก็อาจให้ผลแบบเดียวกัน
- วิตามินซี: บางคนเชื่อว่าการกินวิตามินซีในปริมาณมากจะช่วยเพิ่มปริมาณเอสโตรเจนและช่วยเร่งประจำเดือนได้ ถึงแม้จะมีหลักฐานสนับสนุนน้อยมากแต่การกินวิตามินซีในปริมาณปกติก็ถือว่าปลอดภัย
- การใช้สมุนไพร: ในสมัยโบราณสมุนไพรบางชนิดเช่นพาร์สลีย์และขิงถูกนำมาใช้เพื่อเร่งให้ประจำเดือนมาเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามผลที่ได้อาจแตกต่างกันไปและยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนความเชื่อนี้
- การฝึกผ่อนคลาย: ความเครียดสูงอาจทำให้รอบเดือนเปลี่ยนไปอย่างกะทันหันได้ ทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ ดังนั้นการใช้เทคนิคฝึกผ่อนคลายเช่นโยคะ ทำสมาธิหรือการฝึกควบคุมการหายใจ อาจมีโอกาสช่วยได้หากประจำเดือนมาช้าโดยมีความเครียดเป็นสาเหตุ
วิธีธรรมชาติที่เชื่อกันว่าจะช่วยเลื่อนประจำเดือนออกไป:
- การปรับอาหาร: เชื่อกันว่าอาหารบางชนิดจะช่วยเลื่อนประจำเดือนได้ ตัวอย่างเช่นในบางวัฒนธรรม ถั่วเลนทิลมักถูกนำมาใช้เพื่อเลื่อนประจำเดือน วิธีที่ใช้แต่ดั้งเดิมคือต้มซุปถั่วเพื่อบริโภค นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าการกินเลมอนและน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ลบ่อย ๆ จะช่วยเลื่อนประจำเดือนได้
- การใช้สมุนไพร: สมุนไพรบางชนิดเช่น ยาร์โรว์ (yarrow) และหูปลาช่อน (shepherd’s purse) ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณเนื่องจากมีโอกาสช่วยเลื่อนประจำเดือนได้ โดยมักนำมาบริโภคในรูปแบบชาสมุนไพร
ถึงแม้ว่าวิธีการเหล่านี้อาจใช้เพื่อปรับเปลี่ยนวันประจำเดือนมา แต่ก็ไม่สามารถการันตีว่าจะได้ผลหรือมีประสิทธิภาพสำหรับทุกคน และไม่ควรนำมาใช้เพื่อคุมกำเนิด วิธีการที่ไว้ใจได้มากที่สุดในการควบคุมวันที่ประจำเดือนจะมาคือการทานยาคุมชนิดฮอร์โมนภายใต้การดูแลของผู้ให้บริการทางการแพทย์
การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเพื่อเปลี่ยนวันประจำเดือนมา
การใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเช่น ยากิน แผ่นแปะ ห่วงอนามัย หรือการฉีดยาคุมอาจใช้เพื่อเปลี่ยนวันประจำเดือนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณใช้ยาคุมชนิด 28 วัน คุณก็มักจะได้กินฮอร์โมน 21 เม็ด จากนั้นกินยาหลอกต่ออีก 7 เม็ด ในช่วงที่กินยาหลอกคุณก็จะมีประจำเดือนมา หากคุณไม่ต้องการมีประจำเดือน คุณก็สามารถเริ่มกินยาคุมแผงใหม่ทันทีโดยไม่ต้องกินยาหลอก การกินยาคุมชนิดฮอร์โมนต่อเนื่องในรูปแบบนี้จะช่วยให้ประจำเดือนเลื่อนออกไปได้
การใช้ยาเลื่อนประจำเดือนปลอดภัยหรือไม่?
ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเลื่อนประจำเดือนจะปลอดภัยสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์ก่อน
การข้ามยาหลอกเป็นครั้งคราวถือว่าปลอดภัย แต่การทำบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีเลือดออกกะปริบกะปรอยจากช่องคลอด นอกจากนี้ยาคุมชนิดฮอร์โมนมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่นอาการปวดหัว คลื่นไส้ หรือเพิ่มความเสี่ยงในการมีลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทราบว่าถึงแม้ยาคุมชนิดฮอร์โมนจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และจัดการรอบเดือน แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
ความสามารถในการเลื่อนประจำเดือนอาจช่วยให้คุณมีทางเลือกที่ยืดหยุ่นมากขึ้นในการควบคุมรอบเดือน ไม่ว่าคุณจะวางแผนเพื่อวันพิเศษ มีการแข่งกีฬา หรือการไปเที่ยวพักผ่อน ก็ไม่จำเป็นต้องวางแผนโดยขึ้นอยู่กับประจำเดือนเสมอไป
อย่าลืมว่าคุณควรตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของคุณโดยมีข้อมูลอย่างครบถ้วนเสมอ ควรปรึกษาผู้ให้บริการทางการแพทย์เพื่อถามถึงตัวเลือก และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงรอบเดือนเป็นไปอย่างปลอดภัยและเหมาะสมกับสุขภาพในแต่ละบุคคล
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 สิงหาคม 2023)