ดาวน์โหลดแอป

ผลของอายุต่อภาวะเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์

อายุถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง การถดถอยของภาวะเจริญพันธุ์อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลาย ๆ คนคาดคิด

ผลของอายุต่อภาวะเจริญพันธุ์และการตั้งครรภ์

อายุถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง การถดถอยของภาวะเจริญพันธุ์อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่หลาย ๆ คนคาดคิด

ในผู้ชาย อายุที่มากขึ้นส่งผลต่อคุณภาพอสุจิและสมรรถภาพทางเพศ และในผู้หญิงพบว่าปริมาณและคุณภาพของไข่ลดลงตามอายุ

ภาวะเจริญพันธุ์ในผู้หญิงอายุมาก
งานวิจัยพบว่าผู้หญิงในช่วงวัย 20 กว่าปีจะมีภาวะเจริญพันธุ์สูงที่สุด และภาวะเจริญพันธุ์จะเริ่มถดถอยตั้งแต่อายุ 32 ปี และจะถดถอยอย่างรวดเร็วหลังจากอายุ 35 ปีเป็นต้นไป เมื่ออายุ 40 ปีโอกาสตั้งครรภ์จะเหลือเพียง 5% ต่อรอบเดือน หมายความว่าผู้หญิงน้อยกว่า 5 คนใน 100 คนจะประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ในแต่ละเดือน

เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการแท้งบุตร การคลอดก่อนกำหนดและความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของโครโมโซมในทารกจะเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

ผู้หญิงไม่ได้มีภาวะเจริญพันธุ์ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน อายุเฉลี่ยของการหมดประจำเดือนอยู่ที่ 51 ปี แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่หมดความสามารถในการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ 40 กลาง ๆ เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติหรือการใช้ตัวช่วยเช่นการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) อายุของผู้หญิงจะส่งผลต่ออัตราความสำเร็จในการรักษาภาวะมีบุตรยาก สาเหตุที่ผู้หญิงมีภาวะเจริญพันธุ์ลดลงเป็นเพราะไข่มีปริมาณและคุณภาพลดลงเรื่อย ๆ 

ปริมาณไข่
ปริมาณไข่จะลดลงเรื่อย ๆ ตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น ผู้หญิงเกิดมาพร้อมกับไข่จำนวนหนึ่งในรังไข่ ไข่จะถูกผลิตตั้งแต่เป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา โดยมีไข่ทั้งหมดประมาณ 6 – 7 ล้านฟอง

ฟองไข่ (Follicles) เป็นถุงน้ำที่มีเซลล์ไข่อยู่ภายในซึ่งจะค่อย ๆ มีการพัฒนาเมื่อผู้หญิงเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เมื่อเริ่มต้นรอบเดือนฟองไข่จะเริ่มพัฒนาพร้อมกันหลาย ๆ ฟอง จากนั้นฟองไข่ที่สมบูรณ์ที่สุดจะพัฒนาต่อจนพร้อมสำหรับการปฏิสนธิ ส่วนฟองไข่อื่น ๆ ก็จะสลายตัวไปเมื่อเวลาผ่านไป ปริมาณไข่จะลดลงเป็นประมาณ 1 – 2 ล้านใบเมื่อทารกเกิด และเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะเหลือไข่ประมาณ 300,000 ใบที่พร้อมสำหรับการตกไข่

รอบเดือนสั้นลง
เมื่อปริมาณไข่ลดน้อยลง ฟองไข่จะเริ่มตอบสนองต่อฮอร์โมน FSH ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นไข่จะต้องการการกระตุ้นมากขึ้นเพื่อให้ไข่สุก ส่งผลให้ในช่วงแรก ๆ ประจำเดือนจะมาถี่ จากนั้นรอบเดือนสั้นลงเป็นประมาณ 21 – 25 วัน ในที่สุดฟองไข่ก็จะเริ่มไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมน FSH ได้อย่างสม่ำเสมอจนทำให้รอบเดือนเริ่มห่างออก อายุที่มากขึ้นทำให้ไข่ค่อย ๆ ลดลงไปตามธรรมชาติและคงเหลือแต่ไข่ที่มีคุณภาพลดลง

ผู้หญิงอายุน้อยบางคนก็มีภาวะที่เรียกว่า ปริมาณไข่เหลือน้อย ซึ่งให้ผลคล้ายกับในผู้หญิงอายุมาก ภาวะนี้เกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งยีนเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ Fragile X ซึ่งหากพบในผู้ชายจะทำให้มีปัญหาในการเรียนรู้  ผู้หญิงที่มียีนนี้จะมีภาวะปริมาณไข่เหลือน้อยและมีความเสี่ยงในการให้กำเนิดบุตรที่มีความผิดปกติของโครโมโซม และบุตรชายที่มียีน Fragile X ด้วย

วิธีวัดปริมาณไข่
มีสองวิธีที่จะช่วยวัดปริมาณไข่ได้ นั่นคือการทำการตรวจนับจำนวนฟองไข่ในรังไข่ (antral follicle count -AFC) และการตรวจฮอร์โมน AMH

สำหรับการตรวจนับจำนวนฟองไข่ในรังไข่ แพทย์จะใช้การอัลตราซาวนด์เพื่อนับจำนวนฟองไข่ที่สามารถมองเห็นได้ ส่วนการตรวจฮอร์โมน AMH คือการตรวจฮอร์โมนโปรตีนที่ฟองไข่ผลิตออกมา ซึ่งเมื่อตรวจแล้วจะสามารถประมาณการว่าฟองไข่ในรังไข่มีปริมาณเท่าไร อย่างไรก็ตามการตรวจแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้งสองแบบก็ไม่ได้แม่นยำ 100% และไม่มีการตรวจใดที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยคาดการณ์โอกาสในการตั้งครรภ์ได้  อายุนับเป็นปัจจัยหลักต่อความสำเร็จในการตั้งครรภ์

คุณภาพของไข่
ผู้หญิงในช่วงอายุ 20 กว่าปีมักมีไข่สภาพปกติเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีไข่ผิดปกติบ้าง ผู้หญิงในวัย 40 กว่าปีมักมีไข่ส่วนใหญ่ผิดปกติ ไม่ว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขภาพดีแค่ไหนก็ตาม

ไข่ที่เหลืออยู่ในผู้หญิงอายุมากมีโอกาสสูงที่จะเป็นไข่ที่มีโครโมโซมผิดปกติ ในช่วงแบ่งตัว ไข่ที่อายุมากมักจะมีการแบ่งโครโมโซมที่ผิดปกติ ทำให้เกิดไข่ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมเรียกว่า อะนิวพลอยดีย์ (Aneuploidy) หมายถึงการมีจำนวนโครโมโซมมากหรือน้อยผิดปกติภายในไข่ อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วความเสี่ยงในการมีทารกที่มีโครโมโซมผิดปกติก็ยังถือว่าต่ำ

ปัจจุบันเรายังไม่สามารถวัดคุณภาพของไข่ได้ ทางเดียวที่จะทราบได้ว่าไข่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือไม่คือพยายามผสมไข่นั้น และเมื่อผสมสำเร็จก็ทำการทดสอบทางพันธุกรรมกับตัวอ่อน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความผิดปกติของดีเอ็นเอในไข่ที่อายุมากนั้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อายุของผู้หญิงเป็นปัจจัยเดียวที่ทำนายปริมาณเปอร์เซ็นของไข่ที่ปกติได้อย่างแม่นยำพอสมควร

ภาวะเจริญพันธุ์ในเพศชายอายุมาก
หลายคนเข้าใจว่าอายุส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์ในผู้หญิงเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วปัญหาภาวะมีบุตรยาก 30% มีต้นเหตุมาจากฝ่ายชาย

ภาวะเจริญพันธุ์ของผู้ชายจะเริ่มถดถอยตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการมีบุตรมากนักจนกว่าผู้ชายจะมีอายุอยู่ในช่วง 40 กว่าปี เนื่องจากคุณภาพของสเปิร์มจะลดลงเพียง 1 – 2% ต่อปีเท่านั้น โดยสเปิร์มจะถูกสร้างใหม่เรื่อย ๆ ทุกวัน แม้แต่ผู้ชายที่สุขภาพดีก็จะมีการถดถอยทางการเจริญพันธุ์เช่นกัน

สุขภาพของสเปิร์มขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น การเคลื่อนไหว โครงสร้าง และปริมาณ ความผิดปกติของสเปิร์มอาจทำให้การพยายามตั้งครรภ์ใช้เวลานานขึ้น ลดอัตราการตั้งครรภ์และเพิ่มโอกาสในการแท้งบุตร

ผู้ชายมีภาวะถดถอยทางการเจริญพันธุ์ แต่จะไม่ได้เป็นหมันเมื่ออายุมากขึ้น อัณฑะยังสามารถผลิตฮอร์โมนเพศชาย(เทสโทสเตอโรน) และผลิตสเปิร์มออกมาได้ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ชายทุกช่วงอายุจะสามารถให้กำเนิดบุตรได้ 

ปริมาณสเปิร์ม
ปริมาณสเปิร์มปกติมีประมาณ 15 – 200 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร หากมีสเปิร์มปริมาณตำ่กว่า 15 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 39 ล้านตัวต่อการหลั่งน้ำอสุจิหนึ่งครั้งนับว่ามีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์ ปริมาณสเปิร์มที่ต่ำอาจทำให้ตั้งครรภ์ยากมากขึ้นเพราะมีสเปิร์มเหลือปริมาณน้อยลงที่จะเดินทางไปถึงและปฏิสนธิกับไข่ได้

ปริมาณน้ำอสุจิอาจลดลงเพียงเล็กน้อยเมื่ออายุมากขึ้น แต่จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อผู้ชายอายุมากกว่า 45 ปี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นพบว่าปริมาณน้ำอสุจิไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น ดังนั้นผลกระทบของอายุต่อปริมาณน้ำอสุจิยังถือว่าไม่ชัดเจน

ในการวัดคุณภาพและปริมาณสเปิร์ม จะใช้การวิเคราะห์น้ำอสุจิภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังสูง ช่วยให้หาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากได้ 

คุณภาพของสเปิร์ม
คุณภาพของสเปิร์มจะลดลงเมื่อผู้ชายอายุมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่เป็นปัญหามากนักจนกว่าจะอายุ 45 ปีขึ้นไป 

โดยปกติแล้วสเปิร์มจะมีหัวรูปไข่และหางยาว ซึ่งจะช่วยในการเคลื่อนไหว ถึงแม้ว่ารูปร่างของสเปิร์มจะไม่สำคัญเท่าการเคลื่อนไหวและปริมาณสเปิร์ม แต่หากผู้ชายมีสเปิร์มรูปร่างปกติปริมาณมากก็มีโอกาสสูงที่จะมีภาวะเจริญพันธุ์ที่ดี เมื่อมีสเปิร์มลักษณะปกติปริมาณลดลงจะทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ถดถอยลงไปด้วย งานวิจัยพบว่ารูปร่างของสเปิร์มจะถดถอยลง 0.2 – 0.9% ต่อปี และส่งผลให้มีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปประมาณ 4 – 18% ในช่วงระยะเวลา 20 ปี

ในการที่สเปิร์มจะเข้าไปถึงและผสมกับไข่ สเปิร์มจะต้องเคลื่อนไหวโดยการแหวกว่ายเข้าไปในปากมดลูก โพรงมดลูก และท่อนำไข่ ความสามารถในการเคลื่อนที่ของตัวอสุจินี้จะถูกพัฒนาขึ้นในช่วงที่สเปิร์มอยู่ในต่อมลูกหมากและท่อนำอสุจิ คาดการณ์กันว่าอายุที่มากขึ้นทำให้การทำงานของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง จึงทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวของสเปิร์มลดลงด้วย

มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าโอกาสในการแท้งบุตรจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุของพ่อ เป็นไปได้ว่าเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของสเปิร์ม เด็ก ๆ ที่เกิดจากพ่อที่มีอายุมากมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต (ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสน้อยมากก็ตาม) เด็ก ๆ ที่เกิดจากพ่ออายุมากกว่า 40 ปีจะมีโอกาสที่จะเป็นออทิสติกมากขึ้น 5 เท่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อยที่จะเป็นโรคจิตเภทและปัญหาทางสุขภาพจิตอื่น ๆ เมื่อพวกเขาอายุมากขึ้น

คุณสามารถพัฒนาคุณภาพของสเปิร์มได้โดยการออกกำลังกาย ลดความเครียด เลิกสูบบุหรี่ หยุดใช้ยาเสพติดและทานอาหารที่มีประโยชน์

รับรองโดย:

นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 พฤษภาคม 2023)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน