จะรู้ได้อย่างไรว่ามีการตกไข่?
การตกไข่อาจทำให้มีอาการท้องอืด หน้าอกคัดตึง และอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผู้หญิงบางคนก็อาจไม่รู้สึกถึงอาการอะไรเลย
การตกไข่อาจทำให้มีอาการท้องอืด หน้าอกคัดตึง และอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามผู้หญิงบางคนก็อาจไม่รู้สึกถึงอาการอะไรเลย
ร่างกายของคุณหลังการตกไข่
หลังจากที่ไข่ตกออกจากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่าการตกไข่ ร่างกายของคุณก็จะเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่อาจทำให้มีอาการทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งคุณอาจสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ได้
อาการที่เกิดขึ้น
ช่วงระยะหลังจากการตกไข่ในรอบเดือนนั้นมีชื่อเรียกว่าระยะลูเทียล เป็นระยะเวลาตั้งแต่เกิดการตกไข่ไปจนถึงประจำเดือนเริ่มมาครั้งต่อไป ด้านล่างนี้คืออาการที่คุณอาจสังเกตได้:
- หน้าอกคัดตึง: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้หน้าอกของคุณรู้สึกเจ็บหรือบวม
- อารมณ์แปรปรวน: การขึ้นลงของฮอร์โมนอาจส่งผลต่ออารมณ์ คุณอาจรู้สึกหงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หรือรู้สึกว่าอารมณ์ขึ้นลงมากกว่าปกติ
- ตกขาวจากช่องคลอดเปลี่ยนไป: คุณอาจสังเกตว่าตกขาวจากช่องคลอดเหนียวข้นและมีสีขาวขุ่นมากขึ้นหลังการตกไข่
- อาการปวดเล็กน้อยบริเวณเชิงกราน: ผู้หญิงบางคนอาจรู้สึกเจ็บแปลบเล็กน้อยหรือรู้สึกปวดบีบที่หน้าท้องส่วนล่างด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งนี้มักเรียกว่า mittelschmerz ซึ่งเป็นคำภาษาเยอรมันที่แปลว่า ‘อาการปวดระหว่างกลาง’ ซึ่งก็หมายถึงอาการปวดที่เกิดขึ้นกลางรอบเดือน ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกถึงความปวดแบบนี้ แต่หากรู้สึกได้ก็ถือเป็นเรื่องปกติ
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น: หากคุณวัดอุณหภูมิร่างกายเป็นประจำทุกวัน คุณอาจสังเกตว่าอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อยหลังการตกไข่
- ท้องอืด: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้คุณรู้สึกท้องอืด หรือมีปัญหาในระบบย่อยอาหาร
ร่างกายของแต่ละคนแตกต่างกัน ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการเหล่านี้หลายอย่าง บางคนอาจสังเกตได้ถึง 1 หรือ 2 อาการ และบางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลย ในรอบเดือนตามปกติ ระยะเวลาที่ประจำเดือนมาจะเชื่อมโยงกับการตกไข่โดยตรง หากคุณมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอและสามารถคาดเดาได้ ก็เป็นไปได้ว่าคุณมีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอด้วย
อาการช่วงตกไข่เหล่านี้อาจคล้ายกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน หรืออาการตั้งครรภ์ระยะแรก ๆ ได้
เมื่อไรที่ควรขอความช่วยเหลือ?
หากอาการของคุณรุนแรงหรือทำให้รู้สึกไม่สบายอย่างมาก ควรขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ โรคบางอย่างเช่นซิสต์ในรังไข่ หรือโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่อาจทำให้เกิดอาการคล้าย ๆ กันได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรไปตรวจรักษา
การคอยสังเกตอาการต่าง ๆ จะช่วยให้คุณเข้าใจจังหวะของร่างกายได้ดีขึ้น และจะช่วยให้คุณสามารถดูแลสุขภาพและภาวะเจริญพันธุ์ของตนเอง ควรจำไว้เสมอว่าประสบการณ์ของคุณมีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใคร และความ ‘ปกติ’ นั้นแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคน
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 สิงหาคม 2023)