สุขภาพจิตและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างรอบเดือน
ร่างกายของคุณเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่มีกลไกละเอียดซับซ้อน โดยมีฮอร์โมนเป็นตัวส่งสัญญาณทางเคมีที่ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างราบรื่น
ร่างกายของคุณเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่มีกลไกละเอียดซับซ้อน โดยมีฮอร์โมนเป็นตัวส่งสัญญาณทางเคมีที่ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้อย่างราบรื่น
ฮอร์โมนของคุณ
ฮอร์โมนมีหน้าที่จัดการการทำงานของร่างกายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความหิว ความเหนื่อยล้า ไปจนถึงอารมณ์และภาวะสุขภาพจิตที่ดี อย่างไรก็ตามความไม่สมดุลของฮอร์โมนอาจทำให้ระบบเหล่านี้แปรปรวนได้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ ตามมา
รอบเดือนและฮอร์โมน
ในฐานะผู้หญิง คุณจะได้รับประสบการณ์การทำงานประสานกันของฮอร์โมนหลายชนิดในระหว่างรอบเดือน ฮอร์โมนสองชนิดที่มีบทบาทสำคัญคือเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ในช่วงแรกของรอบเดือนระดับเอสโตรเจนจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตกไข่ หลังการตกไข่โปรเจสเตอโรนจะเพิ่มสูงขึ้นเพื่อเตรียมร่างกายสำหรับการตั้งครรภ์ที่อาจเกิดขึ้น หากไม่มีการตั้งครรภ์ฮอร์โมนทั้งสองชนิดก็จะลดลงทำให้เกิดการมีประจำเดือน
รอบเดือนและอารมณ์
การขึ้นลงของฮอร์โมนสามารถส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมองและส่งผลต่ออารมณ์ได้ เอสโตรเจนมีความสัมพันธ์กับโซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจและมีความสุข ในขณะที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นสูงและลดต่ำลง อารมณ์ของคุณก็อาจขึ้นลงด้วยเช่นกัน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงสังเกตว่าอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือมีความรู้สึกอ่อนไหวเป็นพิเศษในบางช่วงระหว่างรอบเดือน
กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS)
ช่วงหนึ่งหรือสองสัปดาห์ก่อนประจำเดือนมา คุณอาจมีอาการในกลุ่มที่เรียกว่า PMS (premenstrual syndrome) อาการมีตั้งแต่อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า และความเหนื่อยล้า คาดว่า PMS มีความเชื่อมโยงกับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่ลดต่ำลงในช่วงใกล้สิ้นสุดรอบเดือน
อาการที่รุนแรงกว่า PMS เรียกว่า PMDD (premenstrual dysphoric disorder) ซึ่งพบในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ประมาณ 5% อาการของ PMDD มักจะรุนแรงมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ของบุคคลนั้น ๆ อาการมีตั้งแต่อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ซึมเศร้า ท้อแท้ โกรธ วิตกกังวล การเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ไม่สามารถตั้งสมาธิ และถึงขั้นมีความคิดฆ่าตัวตาย
ความเสี่ยง
มีความเสี่ยงบางประการที่ทำให้ผู้หญิงบางคนมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิตซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งมีดังนี้:
- ประวัติการมีปัญหาสุขภาพจิต หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยมีปัญหาทางสุขภาพจิต: ผู้หญิงที่เคยมีปัญหาหรือมีสมาชิกในครอบครัวเคยมีปัญหาทางอารมณ์เช่นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล จะมีความเสี่ยงในการมีปัญหาทางสุขภาพจิตมากกว่าในช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
- มีเหตุการณ์ในชีวิตที่กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง หรือความเครียดสูง: สถานการณ์ในชีวิตหรือเหตุการณ์ที่มีความเครียดสูงเช่นการสูญเสียคนรัก ปัญหาในความสัมพันธ์ หรือความเครียดจากการทำงานสามารถทำให้ผลกระทบของฮอร์โมนต่ออารมณ์รุนแรงมากขึ้นได้
- ปัญหาทางสุขภาพกาย: ปัญหาทางสุขภาพบางอย่างเช่นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์สามารถทำให้ฮอร์โมนไม่สมดุล ซึ่งอาจส่งผลต่ออารมณ์และสุขภาพจิต
- ทางเลือกในการใช้ชีวิต: การใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่นไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ทานอาหารไม่มีประโยชน์ นอนหลับไม่เพียงพอ และการใช้ยาเสพติดอาจทำให้ผลกระทบของฮอร์โมนต่ออารมณ์แย่ลงได้
- ประวัติการมีปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือนหรือฮอร์โมน: ผู้หญิงที่เคยมีอาการ PMS มีอาการซึมเศร้าหลังคลอด หรืออาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอาจมีความเสี่ยงสูงขึ้น
- วัยหมดประจำเดือน และระยะก่อนหมดประจำเดือน: ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงระยะก่อนหมดประจำเดือนอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิต โดยเฉพาะผู้หญิงที่เคยมีปัญหาทางสุขภาพจิตมาก่อนในช่วงก่อนหน้า
ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้การันตีว่าคนคนหนึ่งจะมีปัญหาทางสุขภาพจิตในช่วงที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เพียงแต่เพิ่มแนวโน้มเท่านั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หญิงที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตควรขอความช่วยเหลือจากผู้ให้บริการทางการแพทย์
การรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป
การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรอบเดือนและสุขภาพจิตอาจช่วยให้คุณรับมือกับผลกระทบได้ดีขึ้น มีกลยุทธ์ดังนี้:
- บันทึกรอบเดือน: เมื่อคุณบันทึกรอบเดือน คุณจะได้คาดเดาการขึ้นลงของฮอร์โมนและโอกาสที่ฮอร์โมนอาจส่งผลต่ออารมณ์ได้
- ปรับการใช้ชีวิต: ควรออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอและใช้เทคนิคจัดการความเครียดเช่นการทำสมาธิ การปรับการใช้ชีวิตจะช่วยให้ฮอร์โมนมีความสมดุลและช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้
- ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ: หากคุณมีปัญหาอารมณ์แปรปรวนรุนแรง ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องไปขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำการบำบัดด้วยฮอร์โมนหรือยาต้านซึมเศร้า
- การรักษาด้วยจิตบำบัดหรือให้คำปรึกษา: การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยรับมือกับความท้าทายทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนได้
- การเข้ากลุ่มบำบัด: การพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่มีปัญหาแบบเดียวกันอาจทำให้รู้สึกสบายใจมากขึ้น ทำให้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว และอาจช่วยให้คุณมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการรับมือได้
รอบเดือนของคุณเกี่ยวข้องกับการขึ้นลงของฮอร์โมนที่มีความซับซ้อน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างมาก อย่างไรก็ตามการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ของฮอร์โมนและอารมณ์จะช่วยให้คุณรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้
หากคุณกำลังมีปัญหา โปรดทราบว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวและมีแหล่งต่าง ๆ มากมายที่พร้อมช่วยคุณ โปรดปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์หากคุณมีความกังวลใด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพจิต
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)