ผลกระทบของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ต่อสุขภาพและภาวะเจริญพันธุ์
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) เป็นภาวะทางสุขภาพที่พบได้ทั่วไป พบได้ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่กำลังพยายามตั้งครรภ์
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS) เป็นภาวะทางสุขภาพที่พบได้ทั่วไป พบได้ 1 ใน 10 ของผู้หญิงที่กำลังพยายามตั้งครรภ์
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบคืออะไร?
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบเป็นความผิดปกติทางฮอร์โมนที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิง 1 ใน 10 คนในช่วงเวลาเจริญพันธุ์ ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน Polycystic หมายถึงมีถุงน้ำหลายใบ และคำนี้หมายถึงถุงน้ำรังไข่ใบเล็ก ๆ ที่อาจถูกพัฒนาพร้อมกันในรังไข่ ถุงน้ำนี้ไม่เป็นอันตราย แต่อาจส่งผลต่อสมดุลของฮอร์โมนและการตกไข่ในแต่ละเดือน
PCOS ส่งผลต่อรังไข่อย่างไร?
ในผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ รังไข่จะสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ ส่งผลให้อาจไปรบกวนการพัฒนาของไข่และการตกไข่ ถุงน้ำในรังไข่ที่เติบโตพร้อมกันหลาย ๆ ใบ ส่งผลให้ไข่พัฒนาไม่เต็มที่จนทำให้ไม่เกิดการตกไข่ ดังนั้นแทนที่ไข่จะตกออกมาจากรังไข่ ไข่ที่พัฒนาไม่เต็มที่หลายใบจะค้างอยู่ในรังไข่เป็นลักษณะของถุงน้ำหลาย ๆ ใบในเวลาต่อมา
อาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
อาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบอาจแตกต่างกันในผู้หญิงแต่ละคน และหลายคนอาจไม่มีอาการใด ๆ เลย อาการที่พบบ่อยมีดังนี้:
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ: เป็นอาการที่พบบ่อยมากที่สุดซึ่งเกิดจากการไม่ตกไข่ ทำให้รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
- ประจำเดือนมามาก: เมื่อประจำเดือนมาก็มีปริมาณมากกว่าปกติ
- แอนโดรเจนปริมาณสูง: เมื่อมีแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชายปริมาณสูง ผู้หญิงอาจมีร่างกายเปลี่ยนแปลงเช่น มีขนบริเวณใบหน้าและร่างกายมากกว่าปกติ สิวขึ้นมาก และบางครั้งมีอาการผมบาง ผมร่วง
- มีถุงน้ำหลายใบ: รังไข่อาจมีขนาดใหญ่และมีถุงน้ำที่ล้อมรอบไข่หลายใบ
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดน้ำหนักยาก: ผู้หญิงหลายคนที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบจะมีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หรือการที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
สัญญาณที่บอกว่าคุณอาจมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
นอกเหนือจากอาการที่กล่าวถึงด้านบน ด้านล่างนี้คือสัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าคุณมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ:
- มีสิว ผิวมัน หรือมีรังแค: สิ่งเหล่านี้อาจเป็นผลจากแอนโดรเจนปริมาณสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- ผิวสีเข้มขึ้น: ผู้หญิงบางคนที่ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบมีผิวสีเข้มขึ้นบริเวณข้อพับตามร่างกายเช่นที่คอ ขาหนีบและใต้ราวนม
- ปวดหัว: การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวได้ในผู้หญิงบางคนที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
- นอนหลับยาก: ปัญหาเกี่ยวกับการนอนเช่นโรคนอนไม่หลับ โรคหยุดหายใจขณะหลับอาจเกิดขึ้นได้พร้อมกับภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
การมีอาการที่กล่าวมาหนึ่งอย่างหรือมากกว่าอาจไม่ได้แปลว่าคุณมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบเสมอไป ภาวะอื่น ๆ เช่นโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ก็สามารถส่งผลให้มีอาการคล้าย ๆ กันได้ ดังนั้นหากคุณมีอาการเหล่านี้ ควรปรึกษากับผู้ให้บริการทางการแพทย์ที่จะสามารถช่วยหาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดได้
สาเหตุของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
เรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แต่เข้าใจได้ว่าเกิดจากปัจจัยหลายประการดังนี้:
- ภาวะดื้ออินซูลิน: ผู้หญิง 70% ที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบจะมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย หมายความว่าเซลล์ในร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินได้ ผลที่ตามมาคือร่างกายเข้าใจว่าขาดอินซูลินและเพิ่มการผลิตอินซูลินมากขึ้น ซึ่งอาจไปเพิ่มปริมาณแอนโดรเจนในร่างกาย
- กรรมพันธุ์: หากคุณมีแม่หรือพี่สาวที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ คุณจะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่อาจมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบเช่นกัน กล่าวได้ว่ามีแนวโน้มทางกรรมพันธุ์
- การอักเสบ: ผู้หญิงที่มีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบมักมีค่าเลือดที่บ่งบอกว่ามีการอักเสบในร่างกายมาก ซึ่งอาจทำให้แอนโดรเจนเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมน: แอนโดรเจนที่เพิ่มสูงอาจไปรบกวนรอบเดือนตามปกติ ทำให้เกิดสิว ภาวะขนดก และส่งผลต่อภาวะเจริญพันธุ์
การรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ปัจจุบันยังไม่มีทางรักษาภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบให้หายขาดได้ แต่สามารถทำการรักษาเพื่อควบคุมอาการต่าง ๆ เช่น ช่วยในการมีบุตร ช่วยแก้ภาวะขนดก แก้สิวหรือภาวะน้ำหนักเกินได้ การรักษาที่ใช้บ่อยมีดังนี้:
- เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต: ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักและเลิกบุหรี่เป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยควบคุมอาการของภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้
- การใช้ยา: แพทย์อาจสั่งยาเพื่อช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมน ปรับรอบเดือน และช่วยเรื่องสิว สำหรับผู้หญิงที่ต้องการตั้งครรภ์แพทย์อาจส่ังยาเพื่อช่วยเพิ่มภาวะเจริญพันธุ์
- การผ่าตัด: ในบางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัดจี้รังไข่เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่
การป้องกันภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
ถึงแม้ว่าจะไม่มีวิธีใดที่สามารถการันตีว่าจะป้องกันภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ การใช้ชีวิตอย่างดีต่อสุขภาพก็อาจช่วยลดความเสี่ยงในการมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบได้ การออกกำลังกายเป็นประจำและการกินอาหารอย่างสมดุลจะช่วยให้คุณจัดการน้ำหนักและปริมาณน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะดื้ออินซูลินและภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจนขึ้นสูงที่ตามมาได้
โปรดทราบว่าอาการภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบของผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือคลินิกรักษาผู้มีบุตรยากเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมและปรึกษาว่าควรทำอย่างไรหากคุณมีภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)