ทำความเข้าใจการตกไข่และช่วงไข่สุก
หากคุณกำลังพยายามตั้งครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกลไกการตกไข่และหาช่วงไข่สุกของคุณ
หากคุณกำลังพยายามตั้งครรภ์ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจกลไกการตกไข่และหาช่วงไข่สุกของคุณ
การตกไข่คืออะไร?
การตกไข่เป็นช่วงหนึ่งของรอบเดือน เป็นช่วงที่ไข่จะถูกปล่อยออกมาจากรังไข่ เดินทางผ่านท่อนำไข่และจะพร้อมต่อการผสม โดยทั่วไปแล้วการตกไข่มักเกิดขึ้นประมาณ 14 วันก่อนประจำเดือนมาครั้งต่อไป แต่การตกไข่อาจแตกต่างกันไปในผู้หญิงแต่ละคนและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละรอบเดือน
ทำความเข้าใจช่วงไข่สุก (fertile window)
ช่วงไข่สุกของคุณคือเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะพยายามตั้งครรภ์ โดยช่วงนี้จะรวมถึงวันที่ตกไข่ และช่วงเวลาประมาณ 3-5 วันก่อนการตกไข่ ช่วงไข่สุกนี้ขึ้นอยู่กับการมีชีวิตรอดของสเปิร์ม (อยู่ได้ถึงประมาณ 3-5 วันภายในร่างกายของผู้หญิง) และช่วงอายุของไข่ (อยู่ได้ถึง 24 ชั่วโมงหลังการตกไข่) หากมีสเปิร์มอยู่ในท่อนำไข่ในช่วงไข่สุก ก็จะมีโอกาสสูงที่สเปิร์มจะเข้าผสมกับไข่และทำให้เกิดการตั้งครรภ์
การหาช่วงตกไข่
คุณอาจใช้วิธีต่อไปนี้พร้อมกับการสังเกตสัญญาณหลายอย่างเพื่อหาช่วงเวลาตกไข่ของคุณ
อุณหภูมิกายขณะพัก: อุณหภูมิกายขณะพักคืออุณหภูมิของร่างกายของคุณขณะที่ร่างกายพักผ่อน หลังการตกไข่คุณอาจสังเกตว่าอุณหภูมิกายขณะพักมีค่าสูงขึ้นประมาณเกือบ 0.27 องศาเซลเซียส คุณสามารถวัดค่าอุณหภูมิกายขณะพักทุกวันตอนตื่นเช้าก่อนลุกจากเตียงเพื่อหารูปแบบและทำนายวันตกไข่ครั้งต่อ ๆ ไปได้
การเปลี่ยนแปลงของมูกจากช่องคลอด: เมื่อใกล้ถึงวันตกไข่ มูกที่ออกจากช่องคลอดจะมีลักษณะใสและเหนียวยืดคล้ายไข่ขาว มูกลักษณะนี้จะช่วยให้สเปิร์มว่ายเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น การสังเกตการเปลี่ยนแปลงของมูกจะช่วยคุณหาช่วงเวลาไข่สุกได้
ชุดทดสอบการตกไข่: ชุดทดสอบการตกไข่จะวัดปริมาณฮอร์โมน LH ในปัสสาวะของคุณ ซึ่งจะสูงขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 24 – 36 ชั่วโมงก่อนการตกไข่
โปรดทราบว่าถึงวิธีเหล่านี้จะช่วยได้ แต่อาจไม่ได้แม่นยำ 100% และอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบต่อการตกไข่ได้
การคำนวณหาวันตกไข่ด้วยตัวเอง
หากคุณมีรอบเดือนที่สม่ำเสมอ คุณอาจประมาณวันที่ตกไข่ได้โดยการนำรอบเดือนครั้งต่อไปมาลบด้วย 14 วัน
ทำตามขั้นตอนดังนี้:
- ขั้นแรก ให้หาความยาวรอบเดือนของตัวเอง โดยการนับจากวันแรกที่มีประจำเดือนไปจนถึง 1 วันก่อนประจำเดือนมาครั้งถัดไป รอบเดือนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 28 วัน แต่อาจแตกต่างกันมากในผู้หญิงแต่ละคน รอบเดือนตั้งแต่ 21 – 35 วันถือเป็นเรื่องปกติ
- เมื่อทราบความยาวรอบเดือนแล้วให้ลบ 14 วันออกจากความยาวรอบเดือน ผลที่ได้คือวันที่ของเดือนที่น่าจะมีการตกไข่ ตัวอย่างเช่นหากรอบเดือนของคุณมี 28 วัน คุณน่าจะตกไข่ในวันที่ 14 ของรอบเดือน (28-14 = 14) หากรอบเดือนของคุณมี 35 วัน คุณน่าจะตกไข่ในวันที่ 21 ของรอบเดือน (35-14 = 21)
โปรดทราบว่าการคำนวณแบบนี้เป็นเพียงการคาดคะเนคร่าว ๆ เท่านั้น และผู้หญิงแต่ละคนอาจมีการตกไข่สองสามวันก่อนหรือหลังวันที่คาดคะเนได้ ปัจจัยอื่น ๆ เช่นความเครียด การเจ็บป่วย และการเปลี่ยนแปลงในกิจวัตรประจำวันอาจส่งผลต่อช่วงเวลาตกไข่ได้
การเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์
การมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ ตลอดรอบเดือนโดยไม่ได้เจาะจงช่วงเวลาไข่สุกเท่านั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้ สเปิร์มสามารถมีชีวิตอยู่ในร่างกายของคุณได้ประมาณ 3-5 วัน ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์บ่อย ๆ จะช่วยให้แน่ใจว่ามีสเปิร์มอยู่ในร่างกายเมื่อเกิดการตกไข่
หากคุณพยายามตั้งครรภ์มามากกว่า 1 ปี (หรือ 6 เดือนหากคุณอายุมากกว่า 35 ปี) แต่ยังไม่สำเร็จ ตอนนี้อาจถึงเวลาที่คุณจะขอคำปรึกษาจากผู้ให้บริการทางการแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยแนะนำและค้นหาสาเหตุหรือปัญหาต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ซึ่งทำให้มีบุตรยากได้
หากร่างกายไม่มีการตกไข่จะรู้ได้อย่างไร?
ผู้หญิงบางคนไม่มีการตกไข่อย่างสม่ำเสมอ ความจริงแล้วมีผู้หญิง 1 ใน 10 คนมีภาวะไม่ตกไข่ คืออาจมีช่วงเวลาที่ร่างกายไม่มีการปล่อยไข่ออกมาระหว่างรอบเดือนเลยในช่วงวัยเจริญพันธุ์
สัญญาณของการไม่ตกไข่
สัญญาณของการไม่ตกไข่มีตั้งแต่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือไม่มาเลย มีประจำเดือนมาน้อยหรือมากกว่าปกติ ไม่มีอาการก่อนประจำเดือนมา และการมีบุตรยาก อย่างไรก็ตามควรทราบว่าอาการเหล่านี้อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากคุณสงสัยว่าร่างกายอาจไม่มีการตกไข่ จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ที่สามารถทำการตรวจและทำการทดสอบอย่างละเอียดได้
สรุป
การทำความเข้าใจวงจรการตกไข่ และเข้าใจร่างกายของตนเองจะช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายเพื่อการเป็นแม่ได้
อย่างไรก็ตามควรทราบว่าโดยปกติแล้วการตั้งครรภ์โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณหนึ่ง และเป็นเรื่องธรรมดาที่คุณอาจขอความช่วยเหลือหากมีความกังวลใจ หรือหากการพยายามตั้งครรภ์ใช้เวลานานกว่าที่คุณคาดไว้
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)