ทำไมชาวเอเชียจึงมีบุตรยาก?
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าปัญหาการมีบุตรยากอาจพบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้หญิงชาวเอเชีย
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าปัญหาการมีบุตรยากอาจพบได้มากขึ้นในกลุ่มผู้หญิงชาวเอเชีย
ชีววิทยาของภาวะเจริญพันธุ์
ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต่างก็มีส่วนร่วมในภาวะเจริญพันธุ์ของกันและกัน ผู้หญิงบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่และผู้ชายบางคนมีปัญหาเกี่ยวกับสเปิร์ม และการมีบุตรยากส่วนใหญ่มักเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกัน นอกจากนี้ภาวะเจริญพันธุ์ก็อาจได้รับผลกระทบจากชาติพันธุ์และเชื้อชาติของแต่ละบุคคลด้วย โดยปัจจุบันผู้หญิงเอเชียจะพบกับความท้าทายเป็นพิเศษ
ปัญหาการมีบุตรยากที่พบในผู้หญิงเอเชีย
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เสนอแนะว่าผู้หญิงเชื้อชาติเอเชียอาจพบกับความท้าทายด้านภาวะเจริญพันธุ์ในรูปแบบเฉพาะตัว ความท้าทายนี้ได้แก่ภาวะไข่สำรองเหลือน้อย โดยแนวโน้มนี้เกิดจากภาวะทางพันธุกรรมหรือปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งผลทางอ้อมต่อภาวะเจริญพันธุ์
ปริมาณไข่สำรอง
ปริมาณไข่สำรองคือปริมาณไข่ทั้งหมดในร่างกายที่ผู้หญิงเก็บไว้ในรังไข่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ควรพิจารณาเพราะหากมีไข่ปริมาณมากก็หมายความว่าโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จสูงขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคืองานวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงชาวเอเชียบางคนอาจมีปริมาณไข่สำรองเหลือน้อยเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่มาจากเชื้อชาติอื่น นี่หมายความว่าอาจมีไข่ปริมาณน้อยลงที่จะสามารถผสมได้ ซึ่งทำให้การตั้งครรภ์ยากขึ้น
การจัดเรียงโครโมโซมผิดปกติ
พันธุกรรมและภาวะเจริญพันธุ์มีความเกี่ยวข้องกันอย่างซับซ้อน โดยภาวะทางพันธุกรรมบางอย่างอาจทำให้เกิดปัญหามีบุตรยากหรือทำให้มีโอกาสแท้งบุตรเพิ่มมากขึ้น ภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นได้คือการจัดเรียงโครโมโซมผิดปกติ (balanced translocation) คือมีโครโมโซมอยู่ครบแต่มีการจัดเรียงผิดปกติ ภาวะนี้พบในผู้หญิงชาวเอเชียมากกว่าเชื้อชาติอื่น ในคนที่มีการจัดเรียงโครโมโซมผิดปกติอาจมีการแท้งบุตรบ่อยครั้งหรือมีปัญหาตั้งครรภ์ยาก อย่างไรก็ตามควรทราบว่าถึงแม้ภาวะทางพันธุกรรมแบบนี้จะทำให้เกิดความท้าทายมากขึ้นในการมีบุตร แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็มีหนทางมากมายในการจัดการปัญหาเหล่านี้
อิทธิพลของวัฒนธรรมต่อภาวะเจริญพันธุ์
สังคมและวัฒนธรรมก็อาจส่งผลทางอ้อมต่อภาวะเจริญพันธุ์ได้เช่นกัน ในหลาย ๆ วัฒนธรรมของชาวเอเชียถือเป็นเรื่องปกติที่มักจะให้ความสำคัญเรื่องอาชีพการงานและการศึกษาก่อนจะเริ่มสร้างครอบครัว แนวโน้มทางสังคมรูปแบบนี้ทำให้อายุเฉลี่ยของผู้หญิงเมื่อมีลูกคนแรกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์โดยตรง เนื่องจากเมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้นภาวะเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติจะถดถอยลง ดังนั้นการมีลูกช้าลงก็อาจทำให้เกิดปัญหามีลูกยากมากขึ้น
การขอความช่วยเหลือเรื่องมีบุตรยาก
หากคุณอยากมีลูก แต่มีปัญหาเรื่องมีบุตรยาก เป็นเรื่องสำคัญที่ควรขอคำแนะนำทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะเจริญพันธุ์จะสามารถช่วยคุณประเมินได้อย่างถี่ถ้วน โดยอาจเสนอทางเลือกเช่นการทำ IVF, ICSI หรือการคัดกรองทางพันธุกรรมตัวอ่อน โดยการรักษาแต่ละแบบจะออกแบบมาเพื่อสถานการณ์เฉพาะบุคคลโดยพิจารณาทั้งบริบททางการแพทย์และผลกระทบทางอารมณ์
ถึงแม้คุณจะมีความท้าทายในฐานะผู้หญิงชาวเอเชีย แต่การทำความเข้าใจปัจจัยเหล่านี้อาจจะช่วยให้คุณมีความสามารถในการตัดสินใจมากขึ้น ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับสุขภาพและภาวะเจริญพันธุ์ของคุณ คุณไม่ได้อยู่คนเดียวในหนทางนี้ และมีการรักษาจากแหล่งต่าง ๆ ที่พร้อมจะช่วยเหลือและให้การสนับสนุนคุณได้
รับรองโดย:
นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 สิงหาคม 2023)
ที่มา:
- Understanding Infertility, Women's Health, U.S. Department of Health & Human Services
- What Ovarian Reserves Testing Says About Your Fertility, Verywell Family
- Ethnicity of women undergoing fertility treatment can affect outcomes, Science Daily
- Asian Americans and infertility: genetic susceptibilities, sociocultural stigma, and access to care, National Library of Medicine
- UNDERSTANDING PARENTAL BALANCED TRANSLOCATION, University Reproductive Associates