ดาวน์โหลดแอป

คู่มือการคุมกำเนิด: ตัวเลือกของคุณผู้หญิง

ปัจจุบันมีวิธีคุมกำเนิดที่สามารถใช้ได้มากมาย แต่ละแบบก็มีประโยชน์และข้อควรระวังแตกต่างกัน

คู่มือการคุมกำเนิด: ตัวเลือกของคุณผู้หญิง

ปัจจุบันมีวิธีคุมกำเนิดที่สามารถใช้ได้มากมาย แต่ละแบบก็มีประโยชน์และข้อควรระวังแตกต่างกัน

ยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ยาคุม” เป็นยาฮอร์โมนชนิดรับประทาน เป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดวิธีหนึ่ง ยาคุมกำเนิดจะทำงานโดยช่วยยับยั้งการตกไข่

วิธีใช้: โดยทั่วไปแล้วให้กินวันละครั้ง ทุกวัน ในเวลาเดิม

ประสิทธิภาพ: เมื่อใช้อย่างถูกต้อง ยาคุมจะสามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 99% แต่หากพิจารณาความผิดพลาดจากบุคคล (เช่นการลืมกินยา) แล้วประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 91%

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะต้องเป็นคนกินยา อาจมีผลข้างเคียงเช่นอารมณ์แปรปรวน รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ หรืออื่น ๆ นอกจากนี้ยังอาจลืมได้ง่าย เนื่องจากต้องกินทุกวัน และหากลืมกินยาประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดก็อาจลดลงอย่างมาก ทำให้เป็นการเพิ่มความรับผิดชอบแก่ผู้หญิงในความสัมพันธ์

ถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดโดยวิธีขวางกั้น ป้องกันการตั้งครรภ์โดยป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ ถุงยางอนามัยเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ราคาถูกและยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

วิธีใช้: ใช้สวมใส่อวัยวะเพศชายระหว่างการร่วมเพศ และต้องใส่ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เพื่อการคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ

ประสิทธิภาพ: เมื่อใช้ถูกวิธีจะสามารถคุมกำเนิดได้ 98% อย่างไรก็ตามในการใช้งานทั่วไปมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 85% เนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ เช่นการฉีกขาดและใช้งานไม่ถูกต้อง

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: ถึงแม้ถุงยางอนามัยจะสะดวก แต่ก็อาจฉีกขาด หรือลื่นหลุดระหว่างการมีเพศสัมพันธ์และประสิทธิภาพจะลดลงอย่างมากหากใช้งานไม่ถูกต้อง และผู้ใช้งานบางคนอาจแพ้ยางทำให้เป็นปัญหาได้

หมวกครอบปากมดลูก (Diaphragm)
หมวกครอบปากมดลูกเป็นยางทรงโดมทำจากซิลิโคนสำหรับใส่ในช่องคลอดเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเชื้อไปถึงไข่ได้ มักใช้ร่วมกับยาฆ่าสเปิร์ม

วิธีใช้: ทายาฆ่าสเปิร์มภายในหมวกครอบปากมดลูกและตามขอบ จากนั้นพับและใส่ลงในช่องคลอดให้ครอบคลุมปากมดลูกก่อนมีเพศสัมพันธ์ หลังมีเพศสัมพันธ์ควรปล่อยไว้ในช่องคลอดอย่างน้อย 6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรปล่อยไว้มากเกิน 24 ชั่วโมง

ประสิทธิภาพ: เมื่อใช้อย่างถูกต้องร่วมกับยาฆ่าสเปิร์ม หมวกครอบปากมดลูกจะสามารถคุมกำเนิดได้ 88%

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: หมวกครอบปากมดลูกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและการระคายเคืองของช่องคลอด มันอาจถูกเคลื่อนที่ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ทำให้ความสามารถในการป้องกันลดลง และถ้าปล่อยไว้นานกว่า 24 ชั่วโมงอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการท็อกซิกช็อก(Toxic shock syndrome) ซึ่งเกิดจาการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ การใช้หมวกครอบปากมดลูกต้องได้รับการปรับขนาดโดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพ และขนาดอาจเปลี่ยนแปลงได้หลังจากคลอดลูก หลังการผ่าตัดช่องคลอด หรือหลังมีการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามหมวกครอบปากมดลูกยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ห่วงอนามัย
ห่วงคุมกำเนิดหรือห่วงอนามัยเป็นอุปกรณ์รูปตัวทีขนาดเล็กที่ถูกนำเข้าไปใส่ในมดลูกโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ ห่วงอนามัยมีสองแบบคือห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน และห่วงอนามัยชนิดลวดทองแดง ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมนจะปล่อยสารโปรเจสทิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ป้องกันการตกไข่และทำให้สารคัดหลั่งที่ปากมดลูกเหนียวเพื่อหยุดสเปิร์มไม่ให้เข้าผสมกับไข่ ส่วนห่วงอนามัยชนิดลวดทองแดงจะปล่อยสารทองแดงซึ่งเป็นพิษต่อสเปิร์มออกมา ปัจจุบันห่วงอนามัยได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากมีประสิทธิภาพการใช้งานได้นานและสะดวก

วิธีใช้: เมื่อผู้ให้บริการทางการแพทย์ใส่ห่วงอนามัยให้แล้ว ห่วงอนามัยจะอยู่ที่เดิมและใช้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลายปี (3-10 ปีแล้วแต่ชนิด)

ประสิทธิภาพ: ห่วงอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 99%

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: ห่วงอนามัยอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่นเลือดไหลกะปริบกระปรอย ปวดท้อง หรืออาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ในบางกรณีที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก ห่วงอนามัยอาจหลุดออกจากที่หรือทิ่มผนังมดลูก ทำให้ต้องไปโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน การติดเชื้อจากการใส่ห่วงอนามัยพบได้น้อย นอกจากนี้ห่วงอนามัยชนิดลวดทองแดงอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานกว่าปกติ ส่วนห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมนอาจทำให้เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือนได้ และเช่นเดียวกับการคุมกำเนิดวิธีอื่น ๆ ห่วงอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

การฝังยาคุม
การฝังยาคุมเป็นการฝังอุปกรณ์ขนาดเล็กลัหษณะเป็นหลอดสั้น ๆ ที่ต้นแขน ทำโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ ยาคุมแบบฝังจะปล่อยฮอร์โมนโปรเจสตินออกมาเพื่อยับยั้งการตกไข่ จึงป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าผสมกับไข่ได้

วิธีใช้: เมื่อฝังแล้วยาคุมจะใช้งานได้ถึง 3-5 ปี ขึ้นกับชนิดของยาฝังคุมกำเนิด

ประสิทธิภาพ: การฝังยาคุมมีประสิทธิภาพ 99% 

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: การฝังยาคุมอาจมีผลข้างเคียงได้แก่การเปลี่ยนแปลงของประจำเดือน น้ำหนักเพิ่ม อารมณ์แปรปรวน และปวดหัว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่พบได้น้อย เช่น การติดเชื้อหลังฝังยาคุม หรือยาคุมเคลื่อนจากจุดที่ฝังในตอนแรก ซึ่งอาจทำให้ยาคุมที่ฝังเอาออกได้ยาก อย่างไรก็ตามยาคุมชนิดฝังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ยาฉีดคุมกำเนิด
ยาฉีดคุมกำเนิด หรือ DMPA เป็นการฉีดฮอร์โมนโปรเจสตินเพื่อคุมกำเนิด ฮอร์โมนจะไปยับยั้งการตกไข่และทำให้เมือกปากมดลูกเหนียวกว่าปกติทำให้ช่วยหยุดยั้งสเปิร์มไม่ให้เข้าไปถึงไข่ได้

วิธีใช้: ผู้ให้บริการทางการแพทย์จะฉีดยาให้ทุก 3 เดือน

ประสิทธิภาพ: ยาฉีดคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพ 94% ในการใช้งานทั่วไป แต่อาจมีประสิทธิภาพสูงถึง 99% หากใช้งานอย่างแม่นยำ และสม่ำเสมอ

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: การฉีดยาคุมอาจมีผลข้างเคียงเช่นทำให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ น้ำหนักเพิ่ม ปวดหัวและอารมณ์แปรปรวน ผู้หญิงบางคนพบว่ามีการสูญเสียมวลกระดูกเมื่อฉีดยาคุมเป็นเวลานาน แต่มวลกระดูกก็กลับคืนมาได้ปกติหลังจากหยุดฉีดยาคุมกำเนิด นอกจากนี้หลังจากหยุดฉีดยาคุมกำเนิดแล้วอาจใช้เวลานานถึง 10 เดือนในการกลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง และยาฉีดคุมกำเนิดยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

การทำหมันชาย
การทำหมันชายเป็นวิธีถาวรในการคุมกำเนิด ซึ่งจะต้องทำการผ่าตัดเล็กเพื่อตัดหรือผูกท่อนำอสุจิที่จะพาสเปิร์มออกจากลูกอัณฑะ มักทำโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่

วิธีใช้: การทำหมันเป็นกระบวนการที่ทำครั้งเดียวโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ ใช้เวลาไม่นานและผู้ชายส่วนใหญ่ก็มักจะกลับบ้านได้เลยในวันที่ทำการผ่าตัด อย่างไรก็ตามควรทราบว่าใช้เวลาหลายเดือนกว่าน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาจะไม่มีสเปิร์มผสมอยู่เลย ดังนั้นจึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ไปด้วยหลังจากทำการผ่าตัดทำหมันเสร็จแล้ว

ประสิทธิภาพ: การทำหมันชายมีประสิทธิภาพ 99% ในการป้องกันการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น: เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ มีความเสี่ยงที่เป็นไปได้บางประการเช่นการติดเชื้อ หรือปัญหาที่เกี่ยวกับการระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัด นอกจากนี้การทำหมันมักจะมีผลถาวร ดังนั้นอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ชายที่อาจต้องการมีลูกในอนาคต การแก้หมันสามารถทำได้แต่ไม่สำเร็จเสมอไป

โปรดทราบว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปรึกษาทางเลือกในการคุมกำเนิดกับผู้ให้บริการทางการแพทย์ เพราะสามารถช่วยให้คุณชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี โดยพิจารณาจากการใช้ชีวิต ประวัติการเจ็บป่วย และการวางแผนครอบครัว

รับรองโดย:

นพ. สิริเชษฐ์ อเนกพรวัฒนา (แพทย์ภาวะเจริญพันธุ์) (1 มิถุนายน 2023)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน