อะไรคือสาเหตุของอาการคลื่นไส้และความอ่อนเพลีย
คุณแม่

ในไตรมาสแรกคุณแม่มักจะพบกับอาการอ่อนเพลียและคลื่นไส้ และเนื่องจากอาการอ่อนเพลียสามารถส่งผลให้อาการคลื่นไส้แย่ลงได้ คุณแม่จึงควรพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อาการคลื่นไส้ระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่มากกว่า 70% จะมีอาการคลื่นไส้ในบางช่วงในระหว่างที่ตั้งครรภ์ โดยปกติจะเริ่มในสัปดาห์ที่ 4 – 8 ของการตั้งครรภ์ และลดลงในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 14 ถ้าคุณแม่มีอาการอาเจียนรุนแรง จนทำให้รู้สึกสูญเสียน้ำมากและน้ำหนักลด นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะที่เรียกว่า การแพ้ท้องอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะการขาดน้ำได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้
ผู้เชี่ยวชาญยังคงไม่แน่ใจว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ เชื่อกันว่าระดับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน hCG และฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจทำให้เกิดอาการนี้ หรือจากทฤษฎีอื่น ๆ ที่กล่าวถึงกระเพาะอาหารที่ไวต่อการกระตุ้น ความเครียด หรือความอ่อนเพลีย บางคนก็เชื่อว่ากระเพาะอาหารที่มีความไวจะช่วยป้องกันไม่ให้คุณรับประทานอาหารที่เป็นอันตรายต่อลูกเข้าไป
อาการคลื่นไส้เป็นอันตรายหรือไม่
แน่นอนว่าอาการคลื่นไส้นั้นจะทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด แต่นั่นไม่เป็นอันตรายทั้งต่อคุณหรือลูก บ่อยครั้งที่อาการคลื่นไส้นั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกของการตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี
วิธีรับมือกับอาการคลื่นไส้
เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ คุณแม่ควรรับประทานอาหารบ่อย ๆ โดยแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก หรือเผ็ดจัด การรับประทานขิงสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน คุณแม่ยังสามารถขอให้สูติแพทย์ช่วยจัดวิตามิน B6 เสริมเพื่อช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ ถ้าหากอาการอาเจียนของคุณแม่รุนแรงเกินไป ควรปรึกษาแพทย์
ทำไมคุณแม่จึงรู้สึกอ่อนเพลีย
ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีการพัฒนารกและลูกด้วยสารอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจของคุณแม่ต้องทำงานหนักขึ้น อีกเหตุผลหนึ่งคือการเพิ่มของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่ามีฤทธิ์ในการทำให้ง่วงซึม เหนือสิ่งอื่นใดเนื่องจากร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการย่อยอาหาร และสารอาหารต่าง ๆ ซึ่งก็ทำให้เกิดความเครียดและความอ่อนเพลียมากขึ้น
ความอ่อนเพลียที่เกิดจากภาวะโลหิตจาง
บางครั้งอาการอาการอ่อนเพลียก็เป็นสัญญาณของภาวะการมีธาตุเหล็กในเลือดต่ำ
โลหิตจาง: ความต้องการธาตุเหล็กจะเพิ่มขึ้นในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายต้องการธาตุเหล็กเพื่อสร้างฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นสารในเม็ดเลือดแดงที่ช่วยให้เซลล์สามารถพกพาออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของคุณและลูก หากคุณมีภาวะโลหิตจาง หรืออาการต่าง ๆ เช่น เวียนศีรษะ หายใจถี่ อ่อนเพลีย การเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ และผิวซีด ลองให้คุณหมอตรวจสอบโดยการตรวจเลือด และอาจให้รับประทานธาตุเหล็กเสริมในกรณีที่จำเป็น
วิธีการรับมือกับความอ่อนเพลีย
น่าเสียดายที่คุณหมอไม่สามารถให้ยาเพื่อบรรเทาอาการอ่อนเพลียจากการตั้งครรภ์ของคุณแม่ได้ แต่ก็มีบางสิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้ เพื่อช่วยลดอาการอ่อนเพลียที่อาจกำลังเผชิญอยู่
พักผ่อนบ่อยๆ: พักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เข้านอนแต่หัวค่ำและงีบหลับเมื่อใดก็ตามที่ทำได้ เพียงแค่ 15-20 นาทีในการพักสายตาก็สามารถช่วยได้แล้ว
ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยจะช่วยเพิ่มพลังงานให้แก่ร่างกาย และช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกกะปรี้กะเปร่าขึ้น
รับประทานอาหารให้เหมาะสม: พยายามรับประทานให้เหมาะสม การรับประทานอาหารที่ดีสุขภาพ และสมดุลจะช่วยทำให้ระดับพลังงานในร่างกายของคุณแม่เพิ่มขึ้น
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (5 มิถุนายน 2019)