ดาวน์โหลดแอป

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

มองไปข้างหน้า

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

หลังจากคลอดบุตร คุณแม่หลายคนประสบปัญหาสุขภาพจิต คุณแม่บางคนอาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวดที่เกิดจากการคลอดบุตร หรือความยากลำบากในการปรับตัว และการเลี้ยงดูลูกน้อย หรือบางคนอาจไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของรูปลักษณ์หลังคลอดได้

บ่อยครั้งที่คุณแม่มือใหม่อาจไม่ทราบถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับร่างกายของพวกเธอในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตร รวมไปถึงความเจ็บปวดที่จะเกิดขึ้นจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกรานของพวกเธอ คุณแม่จำนวนมากไม่สามารถจะบอกได้แน่ชัดว่า ความรู้สึกเศร้าของพวกเธออยู่ในระดับปกติ หรือเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่านั้น

ภาวะซึมเศร้างหลังคลอด หรือเบบี้บลู คืออะไร?
ในแต่ละช่วงของชีวิต ทุกคนคงเคยผ่านการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและสภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ มาแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็จะตอบสนองต่าง ๆ กันไป เช่นเดียวกับคุณแม่อีกหลายคนที่ตอบสนองไม่เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่คุณแม่จะต้องทำความเข้าใจว่าภาวะทางอารมณ์แบบไหนที่อาจเกิดขึ้นเป็นปกติหลังจากการคลอด นอกจากนี้ คุณแม่และคนในครอบครัวควรจะรับรู้ได้เมื่อเกิดภาวะทางอารมณ์บางอย่าง เช่น ความโศกเศร้า หรือความวิตกกังวล ก่อนที่จะเป็นมากไปกว่านั้น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการดูแลตัวเองของคุณแม่ หรือคนในครอบครัวได้

การจะมีเจ้าตัวเล็กมาเป็นสมาชิกใหม่นั้นช่างน่าตื่นเต้น แต่คุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกสับสนว่าทำไมบางครั้งจึงมีอารมณ์โศกเศร้าเกิดขึ้นได้ หลังจากที่รู้สึกมีความสุขมากที่ได้นำพาลูกน้อยมาสู่โลกใบนี้ จากการศึกษาพบว่า 80% ของคุณแม่มือใหม่อาจเจอกับความรู้สึกเชิงลบ หรือภาวะอารมณ์แปรปรวนหลังให้กำเนิดลูกน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีช่วงเวลาที่คุณแม่อาจอยากร้องไห้ ร้องไห้ออกมาจริง ๆ หรือต้องการใช้เวลาอยู่ตามลำพังโดยไม่มีลูกอยู่ใกล้ ๆ ขอให้คุณแม่จำไว้ว่านี่คือเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นได้ โดยภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังการคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาหลังการคลอดแต่ส่วนใหญ่จะพบในช่วง 1 – 3 สัปดาห์แรกของการมีลูก คุณแม่อาจมีความรู้สึกคล้าย ๆ ไม่ชอบลูกของตัวเอง หรืออาจรู้สึกกลัวถูกทอดทิ้งไว้ตามลำพังกับลูก แม่หลายคนตกใจกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับร่างกายของพวกเธอจากการคลอดบุตรตามธรรมชาติ ซึ่งมักส่งผลให้เกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือการผ่าคลอดที่ทำให้เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่บริเวณหน้าท้อง และอาจต้องอดทนต่อความเจ็บปวดเป็นสัปดาห์ ในขณะที่คุณแม่คนอื่น ๆ รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการเสียเลือดหลังจากคลอดบุตร อาการตกใจของคุณแม่นั้นอาจเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะส่วนใหญ่แล้วคนในครอบครัวมักจะให้ความสนใจในตัวหนูน้อยซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน และไม่ได้ใส่ใจในตัวคุณแม่มากนัก การจมอยู่กับความคิดซึมเศร้าอาจเป็นอันตรายทั้งต่อลูกน้อยและตัวคุณแม่เองได้ ดังนั้นการได้ถ่ายทอดความรู้สึกของคุณแม่ไปสู่คุณพ่อ คนในครอบครัว หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ได้รับรู้ ว่าคุณแม่กำลังรู้สึกอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอดซึ่งควรได้รับการแก้ไขในทันที คุณแม่ไม่ต้องรู้สึกกังวลที่จะขอความช่วยเหลือจากคนรอบ ๆ ตัว แต่ควรเปลี่ยนเป็นยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้างแทน

สิ่งที่คุณแม่จะทำได้ในช่วงนี้
นี่คือบางอย่างที่คุณแม่สามารถทำได้ในทันทีหากคุณแม่ได้อยู่บ้านกับลูก แล้วรู้สึกได้ว่ากำลังซึมเศร้า

ขอความช่วยเหลือ: พูดคุยกับสามี พ่อแม่ หรืออาจเป็นสูติแพทย์ผู้ทำคลอดเกี่ยวกับความรู้สึกของคุณแม่ หากคุณแม่อาศัยอยู่ในเมือง คุณแม่อาจให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลคุณแม่หลังคลอดมาพบภายในบ้าน

อยู่ไฟ: การอยู่ไฟตามประเพณีของไทยมีประโยชน์มาก และเราขอแนะนำให้คุณแม่ลองอยู่ไฟอย่างน้อย 5 วัน การบำบัดและการพูดคุยจากผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งสามารถช่วยคุณแม่ได้มาก

อยู่เดือน: ตามประเพณีของชาวจีน คุณแม่หลังคลอดควรที่จะอยู่ในบ้านเพื่อเยียวยาอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นและให้นมแก่ลูกน้อยแรกเกิด โดยการอยู่เดือนนั้นจะมีการใช้ยาจีนโบราณ ร่วมกับการรับประทานอาหารสำหรับบำรุงร่างกายและช่วยในการผลิตน้ำนม โดยคุณแม่จะต้องอยู่แต่ภายในบ้านอย่างน้อย 30 วันตามธรรมเนียมปฏิบัติ การอยู่เดือนเป็นประเพณีที่มุ่งเน้นการดูแลคุณแม่ ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คุณแม่เอาชนะภาวะซึมเศร้าได้

การทำกิจกรรมใหม่ๆ: เมื่อใดที่คุณแม่รู้สึกว่าตัวเองพร้อม คุณแม่อาจหากิจกรรมที่คิดว่าชอบและสามารถทำร่วมกับลูกได้ อาจมองหากิจกรรมใกล้บ้าน เช่น กลุ่มช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือคลาสโยคะสำหรับคุณแม่และลูก ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่คุณแม่จะได้รับแรงสนับสนุนจากคุณแม่คนอื่น ๆ ที่กำลังจะผ่านประสบการณ์และความรู้สึกคล้าย ๆ กันไปด้วยกัน และยังช่วยให้ลูกน้อยได้มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปกับเพื่อน ๆ ทารกน้อยอีกหลาย ๆ คนด้วย

การใช้เวลาของคุณแม่กับคุณพ่อ: การจะแบ่งเวลาให้คุณพ่อ หรือแม้แต่ให้ตัวคุณแม่เอง อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำได้ด้วยการทำกิจกรรมธรรมดา ๆ ร่วมกันกับคุณพ่อ ลองทานข้าวด้วยกัน หรืออาจดูทีวีรายการโปรดด้วยกันสัก 2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ในขณะที่ลูกหลับ การรักษาความสัมพันธ์และความรู้สึกระหว่างสามี-ภรรยา ในขณะเดียวกับที่สวมบทบาทการเป็นคุณพ่อคุณแม่นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

การให้เวลาส่วนตัวของคุณแม่เอง: สุดท้ายนี้ ต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาส่วนตัวให้กับตัวคุณแม่เองด้วย สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการหาเวลาส่วนตัวให้กับตัวเอง นั่นก็คือการขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อ หรือคนอื่น ๆ ในครอบครัว คุณแม่เพียงแค่ขอและไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด จากนั้นใช้เวลาส่วนตัวนี้ทำในสิ่งที่คุณแม่ชอบ และสบายใจ อาจออกไปหาอะไรทาน งีบหลับ อาบน้ำ ออกกำลังกาย ช็อปปิ้ง หรือเสริมสวยก็ได้ พยายามหาเวลาส่วนตัวทำสิ่งที่คุณแม่ชอบดู

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (6 มีนาคม 2019)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน