การเบ่งคลอด เบ่งอย่างไรเพื่อช่วยลดการบาดเจ็บให้กับคุณแม่
วันคลอด
โรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรได้หยุดบอกให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายเบ่งขณะคลอดบุตร และผลที่ได้นั้นน่าทึ่งมาก
ถ้าคุณแม่เคยดูฉากคลอดบุตรในภาพยนต์ หรือรายการทีวี คุณแม่คงเคยได้ยินเสียงหลาย ๆ คนรอบ ๆ ตะโกนว่า เบ่ง! เบ่ง! เบ่ง! และถ้าคุณแม่มีลูกของตัวเอง คุณแม่ก็อาจเคยได้ยินด้วยตัวเองมาแล้ว
ทดลองหยุดเบ่ง
เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเมดเวย์ แมรี่ไทม์ในเมืองเคนท์ ได้ริเริ่มโครงการหยุดบอกให้คุณแม่ตั้งครรภ์เบ่งขณะคลอดบุตร เพื่อลดการฉีกขาดของช่องคลอด ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 1 ใน 10 ของคุณแม่ที่คลอดบุตรตามธรรมชาติในสหราชอาณาจักร
ในช่วงระยะเวลา 12 เดือนหลังจากที่โครงการนี้เริ่มขึ้น จำนวนของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะการฉีกขาดในช่องคลอดลดลงจาก 7% เหลือเพียง 1% พวกเขาทำให้เกิดผลลัพท์ที่น่าทึ่งนี้ได้ เพียงแค่ไม่บอกให้คุณแม่เบ่งขณะกำลังคลอดบุตร แนวทางการปฏิบัติยังรวมถึงการเปลี่ยนท่านอนหงายขณะคลอด เป็นท่าอื่น ๆ คุณแม่จะได้รับการสนับสนุนให้ผ่อนคลาย ดึงเกมให้ช้าลงขณะคลอด และพยาบาลจะแนะนำให้พวกเธอหายใจตามจังหวะการบีบตัวของมดลูกแทนการเบ่ง
รับน้ำหนักเด็ก
พยาบาลผดุงครรภ์จะยังไม่ดึงตัวเด็กออกมาทันที เมื่อเห็นไหล่ของพวกเขาโผล่ออกมา แต่จะคอยรองรับน้ำหนักของพวกเขาเอาไว้แทนในขณะที่พวกเขากำลังคลอดออกมา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดแรงกดดันที่ช่องคลอดของคุณแม่นั่นเอง การประสานมือไว้ที่ช่องคลอดในขณะที่หัวของทารกกำลังคลอดออกมานั้น จะเกิดแรงโต้กลับที่สำคัญและช่วยผยุงช่องคลอดของคุณแม่ขณะคลอดด้วย
โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในเมดเวย์ ผลลัพท์ของโครงการได้รับการตีพิมพ์ในวารสารสูติศาสตร์สตรีและนรีเวชวิทยาและชีววิทยาการเจริญพันธุ์ของยุโรป และยังมีแผนที่จะเผยแพร่ไปในระดับชาติ
ผลจากการศึกษานี้อาจไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับพยาบาลผดุงครรภ์และสูติแพทย์ ผู้ซึ่งฝึกฝนทำคลอดด้วยวิธีธรรมชาติมามากแล้ว แต่ก็ถือเป็นข่าวดีสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในทุกหนแห่ง ว่าวิธีการคลอดธรรมชาติแบบไม่ถูกกดดันให้เบ่งนี้ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการแล้วว่าเป็นวิธีการที่ดี และปลอดภัยกว่าสำหรับคุณแม่ในการคลอดบุตร
เนื่องจากแนวคิดนี้ยังเป็นสิ่งที่ใหม่มากในวงการแพทย์ไทย คุณแม่ที่สนใจวิธีนี้อาจต้องลองมองหาโรงพยาบาลที่ค่อนข้างนำสมัย หรือคุยกับคุณหมอที่เปิดใจรับแนวคิดใหม่ๆ