สัปดาห์ที่ 14 ของการตั้งครรภ์
อัปเดต
คุณแม่เริ่มเข้าสู่การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 แล้ว ในระยะนี้ลูกจะเริ่มพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน แต่ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์
สำหรับคุณแม่ ช่วงนี้อาจมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อาการอ่อนเพลียและแพ้ท้องอาจลดลง และมีอาการขาเป็นตะคริวหรือปวดท้องน้อยแทน
ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกกำลังเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ตัวของเขาจะมีความยาวประมาณ 8 ซม. หรือประมาณผลเลมอน และมีน้ำหนักตัวประมาณ 45 กรัม อวัยวะเพศของลูกนั้นจะพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์แล้วในช่วงนี้ แต่ยังยากที่เราจะตรวจทราบได้
ขนของเด็ก: ลูก เริ่มมีการสร้างเส้นขนลานูโกที่มีลักษณะบาง นุ่ม และไม่มีสี ขึ้นปกคลุมทั่วทั้งตัวของเขา เส้นขนลานูโกนี้เป็นเส้นขนชุดแรกที่ถูกสร้างจากรูขุมขนเพื่อปกป้องผิวที่บอบบางของเขา เมื่อลูกสะสมไขมันใต้ผิวหนังในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เส้นขนลานูโกก็จะหลุดออกไปเอง แต่บางครั้งเราก็สามารถพบขนอ่อนนี้ได้เล็กน้อยหลังคลอดเช่นกัน
ในปลายสัปดาห์นี้ คิ้วของลูกจะเริ่มสร้างขึ้นแล้ว
ม้าม: ในปลายสัปดาห์นี้ ตับเริ่มผลิตเม็ดเลือดแดงลดลงและเปลี่ยนไปผลิตที่ม้ามแทน ตอนนี้ม้ามจะกลายเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการสร้างเม็ดเลือดแดงแทน
ตับ: เซลล์ตับเริ่มสร้างน้ำดีที่จะนำไปใช้ในการย่อยอาหาร แต่ในช่วงนี้ น้ำดีจะมีหน้าที่ช่วยในการควบคุมการสร้างหลอดเลือดแดงและการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดแดงในตับ
และหลังจากนี้ไม่กี่สัปดาห์ น้ำดีจะเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้นของลูก และไปผสมกับขี้เทาทำให้ขี้เทานั้นมีสีเขียวมะกอก ซึ่งทารกจะขับถ่ายออกมาหลังคลอด
ระบบภูมิคุ้มกัน: ลูกสามารถสร้างสารภูมิคุ้มกันที่ใช้ในการต่อสู้กับเชื้อโรคได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะระบบภูมิคุ้มกันของเขายังไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันจากคุณแม่บางส่วนจึงถูกส่งต่อให้กับเขาผ่านทางรก สารภูมิคุ้มกันจากคุณแม่นี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูก เพื่อต่อสู้กับโรคบางอย่าง เช่น โรคคอตีบ ไข้ทรพิษ และโรคหัด แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่มีภูมิต้านทานตัวไหนที่รับมาจากคุณแม่แล้วสามารถต่อสู้กับโรคไอกรน หรือโรคอีสุกอีใสได้
แม้ว่าม้ามจะช่วยในการกำจัดสิ่งแปลกปลอมอย่างพวกเชื้อโรคได้ แต่ระบบภูมิคุ้มกันก็ยังสามารถถูกทำลายได้อยู่ดี
คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์นี้มักถูกเรียกว่า ช่วงเวลาทองของคุณแม่ เพราะอาการหลาย ๆ อย่างในการตั้งครรภ์ช่วงแรกจะหายไป นั่นหมายความว่าคุณแม่อาจรู้สึกอยากอาเจียนน้อยลง สามารถพักผ่อนได้มากขึ้น และรู้สึกมีพลังงานมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น คุณแม่ก็อาจพบกับอาการใหม่ ๆ อย่าง เช่น อาการปวดหลัง ขาเป็นตะคริว ท้องผูก จุกเสียด และอาการปวดท้องน้อยขึ้นมาแทนได้
อาการปวดท้องน้อย: อาการปวดท้องน้อยนี้เกิดได้จากการเจริญเติบโตของครรภ์ที่ทำให้มีแรงกดทับลงไปที่เอ็นยึดมดลูกมากเกินไป คุณแม่เลยอาจจะมีอาการเจ็บแปลบที่บริเวณท้องน้อยอยู่บ่อย ๆ
เต้านม: เต้านมของคุณแม่ยังคงโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาจรู้สึกเจ็บน้อยลงกว่าช่วงแรก และดูเหมือนว่าอาการอ่อนล้าและความรู้สึกที่อยากปัสสาวะเรื่อย ๆ ก็น้อยลงด้วยเช่นกัน
ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
ถ้าคุณแม่เคยมีอาการปวดท้องน้อยมาก่อน ควรระมัดระวังการเคลื่อนไหวในบริเวณทางลาดชัน การออกกำลังกายเพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดสำคัญ ๆ อาจช่วยป้องกันอาการป่วยในระยะยาวได้
โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)